ผ่าขุมกำลังธุรกิจกลุ่ม Sea Thailand หนึ่งในผู้ไล่ล่าท้าชิง Virtual Bank

20 ก.ย. 2567 | 08:14 น.
อัพเดตล่าสุด :20 ก.ย. 2567 | 08:40 น.

วัดพลังกลุ่ม Sea (Thailand) หลังผนึกแบงก์กรุงเทพ กลุ่มบีทีเอส (ผ่านบริษัทย่อยของวีจีไอ) เครือสหพัฒน์ และไปรษณีย์ไทย ท้าชิง ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ในประเทศไทย

กลุ่ม Sea (Thailand) กำลังขยายสู่ให้บริการการเงินดิจิทัลเต็มตัว  โดย“ซีมันนี่” (SeaMoney)  ที่มีประสบการณ์ในการประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาหลายแห่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ประกาศร่วมมือเป็นพันธมิตรกับ 4 องค์กร ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ กลุ่มบีทีเอส (ผ่านบริษัทย่อยของวีจีไอ) เครือสหพัฒน์ และไปรษณีย์ไทย ยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ในประเทศไทย 

ผ่าขุมกำลังธุรกิจกลุ่ม Sea Thailand หนึ่งในผู้ไล่ล่าท้าชิง Virtual Bank

เพื่อให้บริการและนวัตกรรมทางการเงินที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งาน และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินให้กับกลุ่ม Underserved และ Unserved (กลุ่มที่ยังเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบได้ไม่เพียงพอ และกลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงินในระบบ)

 

โดยหากพิจารณาเฉพาะกลุ่ม Sea (Thailand) เป็นผู้ให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์ม ที่เข้ามายกระดับชีวิตยุคดิจิทัลให้กับคนไทย เกี่ยวข้องกับชีวิตผู้คนหลายสิบล้านคน   ธุรกิจของกลุ่ม Sea (Thailand)   ประสบความสำเร็จก้าวเป็นผู้นำหลายด้าน ในช่วงการเติบโตเปลี่ยนผ่านจากพีซีสู่มือถือ  

ธุรกิจภายใต้อาณาจักร กลุ่ม Sea (Thailand)  

- บริษัท การีน่า ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด  ผู้ให้บริการความบันเทิงดิจิทัลผ่านเกมออนไลน์และอีสปอร์ต ภายใต้กลุ่ม Sea (Thailand)   เป็นผู้นำอันดับหนึ่งธุรกิจโมบายเกม และพีซีเกม  เกมของ “การีน่า”  เข้าถึงผู้เล่นกว่า 654 ล้านคนจากกว่า 130 ตลาดทั่วโลก  ท่ามกลางตลาดเกม ที่ยังมีการเติบโตต่อเนื่อง  โดยข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลในปี 2566 ระบุว่าตลาดเกมในประเทศไทยมีมูลค่าสูงถึง 37,000 ล้านบาท   และคาดว่าในปี  2567 ตลาดเกมไทยจะเติบโตถึง 10% และมีอัตราการเติบโตต่อปี (CAGR) ในช่วงปี 2024-2029 ที่ 7.32% ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของตลาดนี้

ผ่าขุมกำลังธุรกิจกลุ่ม Sea Thailand หนึ่งในผู้ไล่ล่าท้าชิง Virtual Bank

จากการตรวจสอบข้อมูลจาก Creden Data  พบว่า บริษัท การีน่า ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด มีรายได้และกำไร  ดังนี้

ปี 2562:

  • รายได้   5,812,509,647 บาท
  • กำไร  98,985,027 บาท

ปี 2563:

  • รายได้  6,665,576,352 บาท
  • กำไร  2,230,092 บาท (ต่ำสุดในช่วง 5 ปี)

ปี 2564:

  • รายได้  7,097,955,806 บาท (สูงสุดในช่วง 5 ปี)
  • กำไร 30,696,029 บาท

ปี 2565:

  • รายได้  5,723,528,947 บาท
  • กำไร   25,547,614 บาท

ปี 2566:

  • รายได้  4,887,097,975 บาท (ต่ำสุดในช่วง 5 ปี)
  • กำไร  59,262,041 บาท (สูงสุดในช่วง 5 ปี)

- บริษัท ช้อปปี้  (ประเทศไทย) จำกัด (Shopee)   ก้าวขึ้นมาครองใจนักช้อปไทยในฐานะแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอันดับ 1  โด่งดังมาจากด้วยกลยุทธ์  Live Steaming  และคูปองส่งฟรี ไม่มีขั้นต่ำ  กำลังขยายไปสู่   Video Steaming   โดยขณะนี้มีฐานผู้ใช้งานมากกว่า 50 ล้านคนต่อเดือน  โดย Shopee  เป็นแพลตฟอร์มนี้มีสินค้าหลากหลายประเภทให้เลือกสรร ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าแฟชั่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าอื่นๆ อีกมากมาย

ผ่าขุมกำลังธุรกิจกลุ่ม Sea Thailand หนึ่งในผู้ไล่ล่าท้าชิง Virtual Bank

โดยธุรกิจช้อปปี้ ยังอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีการเติบโต   โดยข้อมูลจาก ETDA ระบุว่า มูลค่าอีคอมเมิร์ซไทย ปี 2566 จะแตะถึง 5.96 ล้านล้านบาท   โดยมีสัดส่วนของอุตสาหกรรมการค้าปลีกและค้าส่ง  13%    อย่างไรก็ตามช้อปปี้กำลังถูกท้าทายอย่างหนักจากโซเชียลคอมเมิร์ซ อย่าง TikTok   และแพลตฟอร์มของถูกจากโรงงานจีน อย่าง Temu

ผ่าขุมกำลังธุรกิจกลุ่ม Sea Thailand หนึ่งในผู้ไล่ล่าท้าชิง Virtual Bank

จากการตรวจสอบข้อมูลจาก Creden Data   พบว่าบริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด ระหว่างปี 2562-2566  พบว่าช้อปปี้สามารถพลิกทำกำไรอย่างรวดเร็ว   โดยปี 2564 ขาดทุน   4,972,561,566 บาท (ขาดทุนมากที่สุด)   แต่ในปี 2565 สามารถทำกำไร  2,380,269,060 บาท (กำไรสูงสุด)  และในปี 2566 มีกำไรต่อเนื่อง  2,165,702,217 บาท

รายได้-กำไร  ช้อปปี้ (ประเทศไทย)

ปี 2562

  • รายได้ 1,986,021,185 บาท
  • ขาดทุน  4,745,723,178 บาท

ปี 2563

  • รายได้ 5,812,790,479 บาท
  • ขาดทุน 4,170,174,144 บาท

ปี 2564

  • รายได้   13,322,184,294 บาท
  • ขาดทุน  4,972,561,566 บาท (ขาดทุนมากที่สุด)

ปี 2565:

  • รายได้  21,709,715,956 บาท
  • กำไร   2,380,269,060 บาท (กำไรสูงสุด)

ปี 2566:

  • รายได้  29,476,729,160 บาท (สูงสุดในช่วง 5 ปี)
  • กำไร   2,165,702,217 บาท

- บริษัทซีมันนี่ แคปิตอล จำกัด  (SeaMoney)  เริ่มต้นจาก AirPay บริการทางการเงินที่พัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์การเติมเงินเกมของกลุ่มเกมเมอร์ จากนั้นขยายขอบเขตการให้บริการครอบคลุมไลฟ์สไตล์ผู้ใช้งานมากขึ้น เช่น การจองตั๋วภาพยนตร์ การสั่งอาหาร การจ่ายบิลค่าสาธารณูปโภค และการเติมเงินโทรศัพท์ และภายหลังมีการรีแบรนด์เป็น ShopeePay ในปี 2564

ผ่าขุมกำลังธุรกิจกลุ่ม Sea Thailand หนึ่งในผู้ไล่ล่าท้าชิง Virtual Bank

SeaMoney ได้รับใบอนุญาตผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลจากธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นรายแรก โดย SeaMoney มีบริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล เช่น SEasyCash เป็นบริการ Digital Personal Loan สินเชื่อเงินสดสำหรับบุคคลทั่วไป ซึ่งสามารถนำเงินไปใช้จ่ายได้อย่างอเนกประสงค์, SEasyCash for Sellers ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ และ SPayLater เป็นบริการที่เป็นโซลูชันทางการเงินเพื่อมุ่งเสริมสภาพคล่องในการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าที่ต้องการบน Shopee

ล่าสุด SeaMoney ประกาศผนึกกำลังกับ 4 องค์กรชั้นนำในประเทศไทย ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ กลุ่มบีทีเอส (ผ่านบริษัทย่อยของวีจีไอ) เครือสหพัฒน์ และไปรษณีย์ไทย จัดตั้งกลุ่มบริษัทพันธมิตร ซึ่งนำโดย กลุ่ม Sea (Thailand)  เพื่อยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ในประเทศไทย

จากการตรวจสอบข้อมูลจาก Creden Data   พบว่า บริษัท ซีมันนี่ (แคปปิตอล) จำกัด (SeaMoney) มีรายได้และกำไร ระหว่างปี 2562-2566 ดังนี้:

ปี 2562

  • รายได้  11,638,887 บาท
  • กำไร  1,006,090 บาท

ปี 2563

  • รายได้  38,545,157 บาท
  • ขาดทุน 11,554,683 บาท

ปี 2564

  • รายได้  467,153,645 บาท
  • ขาดทุน 95,331,570 บาท

ปี 2565

  • รายได้  1,208,490,134 บาท
  • ขาดทุน 395,069,818 บาท (ขาดทุนมากที่สุด)

ปี 2566

  • รายได้  1,429,518,184 บาท (สูงสุดในช่วง 5 ปี)
  • กำไร    6,592,698 บาท (กำไรสูงสุด)

หากพิจารณาจากเส้นทางความสำเร็จของกลุ่ม Sea (Thailand) 3 ธุรกิจหลัก ที่มีรายได้รวมกันมากกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท  และกำไร มากกว่า 2.2 พันล้านบาท   สามารถผลักดัน “การีน่า” และ “ช้อปปี้”  ให้เป็นผู้นำอันดับ 1 ในอุตสาหกรรมเกม และอีคอมเมิร์ซ   ทั้งยังโลดแล่นในอุตสาหกรรมดิจิทัลที่มีการเติบโตต่อเนื่อง  

การเปิดเกมรุกแรงบริการการเงินดิจิทัล ของ “ซีมันนี่” (SeaMoney)    โดยผสานความแข็งแกร่งร่วมกับยักษ์ใหญ่อย่างธนาคารกรุงเทพ กลุ่มบีทีเอส (ผ่านบริษัทย่อยของวีจีไอ) เครือสหพัฒน์ และไปรษณีย์ไทย  เพื่อท้าชิงบริการการเงินดิจิทัลใหม่อย่าง “Virtual Bank” ถือเป็นผู้เล่นที่แข็งแกร่ง และน่าจับตามอง มากเลยทีเดียว