กังขา บอร์ดไตรภาคี ฝ่ายรัฐ 4 คนล่องหน ร่วมวงถก “ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” 400 บาท

20 ก.ย. 2567 | 11:05 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.ย. 2567 | 11:12 น.

เอกชน กังขา คณะกรรมการค่าจ้าง หรือบอร์ดไตรภาคี ล่มรอบสอง หลังกรรมการฝ่ายรัฐ 4 คนล่องหน ไม่มาประชุมเพื่อร่วมวงพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ สัญญาณผิดปกติ

วันนี้ (20 กันยายน 2567) ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยบทความพิเศษ มีเนื้อหาเกี่ยวกับประเด็นร้อนเรื่องของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง หรือบอร์ดไตรภาคี วันที่ 20 กันยายน 2567 ซึ่งเตรียมจะพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ รอบ 2 แต่องค์ประชุมไม่ครบ โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจ ดังนี้ 

ดร.ธนิต กล่าวว่า ปรากฏการณ์ภาคการเมืองในช่วงที่ผ่านมามีการเข้าครอบงำเพื่อปรับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 400 บาท เพื่อให้เป็นไปตามที่ได้หาเสียง โดยไม่สนใจภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอและการปรับอัตราค่าจ้างมีกลไกไตรภาคี เป็นผู้พิจารณา ในปี 2567 มีการปรับค่าจ้างสองครั้งคือเมื่อ 1 มกราคม ปรับ 17 อัตรา ทั่วประเทศระหว่างวันละ 330 – 370 บาท เฉลี่ยปรับขึ้น 2.37% 

ต่อมาวันที่ 12 เมษายน ปรับค่าจ้าง วันละ 400 บาท เฉพาะโรงแรมที่มีลูกจ้างไม่เกิน 50 คนขึ้นไปในสิบจังหวัดท่องเที่ยวและปรับบางเฉพาะพื้นที่ โดยเฉลี่ยค่าจ้างเพิ่มขึ้น 15.9% ภาคการเมืองมีความพยายามกดดันให้มีการปรับค่าจ้าง โดยมีธงอยู่ที่ 400 บาท ภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 และจะให้ไปถึงอัตรา 600 บาทภายในปีสุดท้ายของรัฐบาล เป็นไปตามที่พรรคการเมืองได้หาเสียงในช่วงก่อนเลือกตั้ง

ช่วงที่ผ่านมามีความพยายามทุกวิถีทางที่จะปรับค่าจ้างแบบก้าวกระโดด มีการใช้คะแนน โหวตในคณะกรรมการค่าจ้าง 5 ต่อ 7 เพื่อแก้ไขสูตรคำนวณค่าจ้างแบบเปิดกว้างลอยตัว 

ทั้งนี้เนื่องจากสูตรเดิม ที่ใช้หลักเกณฑ์ทางเศรษฐศาสตร์และคณิตศาสตร์ซึ่งต้องนำค่า L-จังหวัด อัตราการเปลี่ยนแปลงของผลิตภาพ อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย และตัวแปรเชิงคุณภาพ (ตามพรบ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 87) คำนวณอย่างไร ค่าจ้างก็ไม่ถึงวันละ 400 บาทเพราะเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับต่ำช่วง 6 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ยประมาณ 1.66% สำหรับปี 2567 ประมาณ 0.6 – 0.7%

ภาคการเมืองยังคงเดินหน้าปรับค่าจ้างตามธงที่กำหนดไว้ เมื่อวันที่ 16 กันยายน ที่ผ่านมา มี การเรียกประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง เพื่อปรับค่าจ้างขั้นต่ำครั้งที่ 3 ของปี 2567 แต่ไม่สามารถประชุมได้ เนื่องจากกรรมการฝ่ายนายจ้าง 5 คน แจ้งว่า ลากิจ ไม่เข้าร่วมประชุมเพราะรู้ว่าจะมีการล็อบบี้ใช้เสียงข้างมากลากไป โดยไม่สนใจการพิจารณาตามสูตรคำนวณค่าจ้าง 

ดร.ธนิต มองว่า การไม่เข้าร่วมประชุมของฝ่ายนายจ้างเป็นการบอยคอตจนการประชุมไม่สามารถดำเนินการได้ อาจเป็นการส่งสัญญาณว่า ฝากนายจ้างไม่เห็นด้วยกับการแทรกแซงของภาคการเมือง เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการออกสื่อแถลงการณ์ปักธงค่าจ้าง 400 บาท ทั้งที่ยังไม่มีการพูดคุยผ่านกลไกไตรภาคี

การเร่งรีบปรับค่าจ้างมีการกำหนดการประชุมพิจารณาค่าจ้างครั้งต่อไปวันที่ 20 กันยายน 2567 ซึ่งทางประธานบอร์ดค่าจ้างก็ส่งสัญญาณอ้าง ตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานมาตรา 82 หากนายจ้างมาหรือไม่ มาการประชุมสามารถดำเนินการได้ โดยจะใช้มติ 2 ใน 3 ปรับค่าจ้างให้เป็นไปตามธงที่กำหนด และจะเป็นบรรทัดฐานการปรับค่าจ้างว่าการเมืองสามารถกำหนดล่วงหน้าว่าจะปรับเท่าใดก็ได้ 

ขณะที่บอร์ดค่าจ้างมีแค่ลูกจ้างกับตัวแทนรัฐบาลสามารถประชุมปรับค่าจ้างของประเทศไทย ก่อนประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ไตรภาคีหนึ่งวัน สภาองค์กรนายจ้าง 17 องค์กรออกมาแสดงจุดยืนว่าการพิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำจะต้อง นำเงินเฟ้อ ดัชนีค่าครองชีพ ต้นทุนการผลิต ผลิตภาพแรงงาน ความสามารถของธุรกิจและสภาพทาง เศรษฐกิจและสังคมมาเป็นองค์ประกอบ (ตามมาตรา 87 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541) 

นอกจากนี้ การพิจารณาค่าจ้างต้องพิจารณานำผลจากการพิจารณาของคณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดมาเป็น องค์ประกอบด้วย

ต่อมามีการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง เพื่อกำหนดอัตราค่าจ้างในวันที่ 20 กันยายน 2567 เนื่องจากประชุมก่อนหน้านั้นองค์ประชุมไม่ครบนายจ้างลากิจยกทีมทั้ง 5 คน ปรากฏว่าองค์ประชุมไม่ครบอีก แต่กลับเป็นว่าตัวแทนฝ่ายรัฐบาลทั้ง 4 คนและตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง 2 คน ไม่เข้าร่วมประชุมทำให้ไม่สามารถพิจารณาการปรับค่าจ้าง จนประธานต้องเลื่อนประชุมไปเป็นวันที่ 24 กันยายน 

ปรากฏการณ์นี้ ค่อนข้างแปลก เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีว่าต้องเลื่อนการพิจารณาค่าจ้างจากประเด็นองค์ประชุมไม่ครบ ต่อเนื่องกันสองครั้ง 

ดร.ธนิต ระบุว่า ประเด็นที่น่าแปลกใจคือครั้งนี้ตัวแทนฝ่ายรัฐบาล 4 คนที่มาจากกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน สภาพัฒน์ฯ ธปท. และกระทรวงพาณิชย์ พร้อมใจกันไม่เข้าร่วมประชุม โดยเฉพาะที่มาจากกระทรวงแรงงาน คงไม่ใช่เป็นเรื่องที่ลากิจตรงกัน แต่คงมีการส่งสัญญาณบางอย่าง 

ขณะเดียวกัน ตัวแทนของฝ่ายลูกจ้าง 2 คนก็ไม่เข้าร่วมประชุมเช่นกัน เป็นภาวะที่ไม่ปกติแต่ที่กลับกันคือฝ่ายนายจ้าง คราวที่แล้วยกทีมลากิจแต่งวดนี้มาครบ 

อันที่จริงก่อนเข้าประชุมก็มีสัญญาณผิดปกติ จากการสอบถาม ผู้ที่เกี่ยวข้องแจงไว้ล่วงหน้าว่าอาจมีภาวะที่คาดไม่ถึง คงต้องลุ้นว่าการประชุมงวดหน้าวันที่ 24 กันยายน 2567 ผลจากที่ภาคการเมืองปักธงไว้ 400 บาท

ขณะที่ประธานบอร์ดค่าจ้างซึ่งเป็นปลัดกระทรวงแรงงานจะครบ เกษียณอายุในวันที่ 30 กันยายน การปรับค่าจ้างครั้งประวัติศาสตร์ผลจะเป็นอย่างไรคงต้องติดตาม