วันนี้ (20 กันยายน 2567) คณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 ที่มีนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน ได้นัดประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง หรือ บอร์ดไตรภาคี ซึ่งมีฝ่ายรัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง เพื่อหารือถึงการพิจารณาผลการกลั่นกรองข้อเสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำของทุกจังหวัด และกรุงเทพมหานคร หลังจากในการประชุมวันที่ 16 กันยายน ที่ผ่านมา ฝ่ายนายจ้าง ได้ลาประชุมทั้งหมด จึงไม่ได้หารือถึงประเด็น การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน
แหล่งข่าวจากกระทรวงแรงงาน เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า การประชุมบอร์ดไตรภาคีครั้งนี้ จะหาทางสรุปอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ หรือการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน ทั่วประเทศ เพื่อให้มีผลทันในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 นี้ ตามไทม์ไลน์เดิม แต่คงต้องลุ้นว่าฝ่ายนายจ้างทั้ง 5 คน จะเข้าร่วมประชุมครั้งนี้หรือไม่
สำหรับวาระเร่งด่วนที่จะหารือในครั้งนี้ คาดว่า ที่ประชุมจะมีการหารือประเด็นสำคัญที่ค้างมาจากการประชุมครั้งก่อนเกี่ยวกับการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรอบใหม่ โดยจะพิจารณาผลการกลั่นกรองข้อเสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละจังหวัดรอบใหม่ รวมทั้งพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของสถานประกอบการขนาดใหญ่ที่มีลูกจ้าง 200 คนขึ้นไป ที่มีค่าจ้างเฉลี่ย 400 บาทต่อวัน
ขณะเดียวกันยังคาดว่า บอร์ดไตรภาคี จะหารือเกี่ยวกับการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือกลุ่มเอสเอ็มอี ว่า จะเลื่อนเวลาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อไปหรือไม่ เช่น อาจไม่ปรับขึ้นค่าแรง 3 เดือน เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ได้มีเวลาปรับตัวด้วย
แหล่งข่าว ระบุว่า หากที่ประชุมได้หารือถึงแนวทางการช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจริง โดยยังไม่ได้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ก็ถือเป็นบรรทัดฐานใหม่ เพราะจะเป็นครั้งแรกที่มีการคิดอัตราค่าแรงในกลุ่มเอสเอ็มอี ซึ่งกฎหมายไม่ได้ห้ามไว้ หลังจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรอบก่อน ก็ปรับขึ้นเฉพาะ 10 จังหวัด ในกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวเท่านั้น
“ต้องมาดูว่าในการประชุมบอร์ดไตรภาคีรอบนี้ จะได้ข้อสรุปอย่างไร และฝ่ายนายจ้างจะเข้าร่วมประชุมหรือไม่ แต่ทิศทางก็น่าจะดีขึ้น เพราะฝ่ายนายจ้างอาจจะมาแต่จะมาครบหรือไม่ก็ต้องมาดูอีกที” แหล่งข่าว ระบุ