ผ่าเส้นทางเวนคืน สร้าง “ทางด่วนศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ”

28 ก.ย. 2567 | 07:40 น.
อัพเดตล่าสุด :28 ก.ย. 2567 | 07:41 น.

“กทพ.” กางแผนสร้าง “ทางด่วนศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ” วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท เปิดแนวเส้นทางเวนคืน 47 หลัง ที่ดิน 111 แปลง พบพื้นที่กรุงเทพฯ 5 เขต 8 แขวง ส่อได้รับผลกระทบ

เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2567 การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้จัดสัมมนาการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 (สรุปผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ)งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์ – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 

การเปิดสัมมนาในครั้งนี้ถือเป็นการสรุปผลศึกษาโครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์ – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะทาง 15.8 กม. วงเงินรวม 20,710  ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าก่อสร้าง 19,145 ล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ 840 ล้านบาท ค่าควบคุมงานก่อสร้าง 725 ล้านบาท 

หากผลการศึกษาแล้วเสร็จจะดำเนินการควบคู่การจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ภายในปี 2567 หลังจากนั้นจะขออนุมัติรายงานอีไอเอ ภายในปี 2568-2570 โดยจะเริ่มจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินภายในปี 2569-2571 และก่อสร้างภายในปี 2570-2573 คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2573

ขณะเดียวกันจากผลการศึกษาทางพิเศษสายศรีนครินทร์ – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พบว่า การประมาณราคาค่าทดแทนที่ดิน โดยใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาค่าทดแทนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 ซึ่งอ้างอิงตามราคาที่ดินที่มีการซื้อขายกันในท้องตลาดในพื้นที่โครงการฯ เป็นหลักและใช้ราคาส่วนอื่น ๆ ประกอบการพิจารณา

โดยจะมีคณะกรรมการกำหนดราคาอสังหาริมทรัพย์เบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทน เป็นผู้กำหนดราคาที่ดิน ราคาทดแทนสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงราคาค่าชดเชยอื่น ๆ โดยมีจำนวนผู้ได้รับผลกระทบประมาณ 76 ราย ที่ดินที่ได้รับผลกระทบ ประมาณ 111 แปลง รวมเนื้อที่ดินที่ได้รับผลกระทบประมาณ 43,743 ตารางเมตร และสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับผลกระทบประมาณ 47 หลัง

เส้นทางที่ได้รับผลกระทบ 5 แนวเส้นทาง

  1. ทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์ (จุดเริ่มต้นโครงการ)
  2. สะพานกลับรถ กม.2+000
  3. สะพานกลับรถ กม.10+000
  4. ทางแยกต่างระดับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
  5. สะพานกลับรถ กม.15+000 (จุดสิ้นสุดโครงการ)

สำหรับแนวเส้นทางโครงการเป็นรูปแบบทางยกระดับตามแนวทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 โดยมีจุดเริ่มต้นบริเวณจุดปลายของทางพิเศษศรีรัช ส่วน D

ในปัจจุบัน เป็นทางยกระดับ 2 ฝั่ง แบ่งทิศทาง  (ไป-กลับ) ทิศทางละ 2 ช่องจราจร ตั้งอยู่บริเวณเกาะกลางระหว่างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 และทางบริการ ทั้ง 2 ฝั่ง (ทิศเหนือ-ทิศใต้) มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกผ่านทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์

โครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์ – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 

จากนั้นทางยกระดับด้านทิศเหนือจะเบี่ยงลงมารวมกับทางยกระดับด้านทิศใต้เป็นโครงสร้างทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร เป็นระยะทางประมาณ 8.95 กิโลเมตร ผ่านทางแยกต่างระดับทับช้าง ก่อนจะแยกโครงสร้างเป็น 2 ฝั่งของทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 บริเวณทางแยกต่างระดับถนนร่มเกล้า

จากนั้นจะแยกออกจากทางหลักขนาด 2 ช่องจราจร เลี้ยวขวาเข้าเชื่อมทางเข้า-ออกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่ทางแยกต่างระดับสุวรรณภูมิและทางหลักจะมุ่งหน้าผ่านทางแยกต่างระดับสุวรรณภูมิ และลดระดับลงบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 บริเวณหน้าสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)  

โครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์ – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 

สำหรับพื้นที่ศึกษาทางพิเศษศรีนครรินทร์-สุวรรณภูมิ มีระยะทาง ประมาณ 15.8 กิโลเมตร ครอบคลุม 5 เขต คือ เขตบางกะปิ เขตสวนหลวง เขตสะพานสูง เขตประเวศ เขตลาดกระบัง 8 แขวง ประกอบด้วย แขวงหัวหมาก แขวงพัฒนาการ แขวงทับช้าง แขวงประเวศ แขวงคลองสองต้นนุ่น แขวงคลองสามประเวศ แขวงลาดกระบัง และแขวงลำปลาทิว  

หากโครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์ – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เปิดให้บริการคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณรถ อยู่ที่ 68,909 คันต่อวัน

ผ่าเส้นทางเวนคืน สร้าง “ทางด่วนศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ”

ในปีที่เปิดให้บริการและมีรายได้ค่าผ่านทางอยู่ที่ 1,502 ล้านบาทต่อปี โดยในปีที่ 30 จะมีปริมาณรถเพิ่มขึ้น 90,007 คันต่อวันและมีรายได้ค่าผ่านทางอยู่ที่ 3,115 ล้านบาทต่อปี 

อย่างไรก็ตามอัตราค่าผ่านทางทางพิเศษสายศรีนครินทร์ – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในปีที่เปิดให้บริการ ดังนี้ รถ 4 ล้อ อัตราค่าโดยสาร 60 บาท รถ 6-10 ล้อ อัตราค่าโดยสาร 90 บาท และรถมากกว่า 10 ล้อ อัตราค่าโดยสาร 120 บาท