เปิดปมลงทุน "EEC" สะดุด "กนอ." เผยที่ดินกว่าเกือบ 1 แสนไร่ติดหล่มผังเมือง

02 ต.ค. 2567 | 00:49 น.

เปิดปมปัญหาลงทุน "EEC" สะดุด "กนอ." เผยที่ดินกว่าเกือบ 1 แสนไร่ติดหล่ม ระบุล่าสุดเหลือที่ดินพร้อมขายเพียง 25,215 ไร่ หลังผังเมืองไม่สอดรับพื้นที่ลงทุน และขั้นตอนการทำ EIA ทำให้ไม่สามารถรับนักลงทุนเข้าพื้นที่ได้

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ปีงบประมาณ 68 กนอ.จะมุ่งดึงการลงทุนไทยให้เติบโต รวมถึงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมรองรับที่เพียงพอและมีศักยภาพสูง เพื่ออำนวยความสะดวกนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ 

ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงกระตุ้นจีดีพี (GDP) ให้เติบโต และสร้างการจ้างงาน โดยเฉพาะกลุ่มทักษะสูง 

อย่างไรก็ดี กนอ.วางเป้าหมายยอดขาย/เช่าที่ดินในพื้นที่กนอ.ประมาณ 3,000-4,000 ไร่ เน้นอุตสาหกรรมเป้าหมาย ใช้เทคโนโลยีสูง

ส่วนปีงบประมาณ 67 กนอ.สามารถสร้างยอดขาย/เช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมสูงถึง 6,200 ไร่ ทำสถิติสูงสุดต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 สะท้อนศักยภาพการลงทุนไทยที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสำคัญ เพื่อเป็นฐานการผลิตสำคัญของโลก

นายยุทธศักดิ์ กล่าวอีกว่า ปัจจัยที่ทำให้ กนอ.ตั้งเป้ายอดขาย/เช่าที่ดินไม่สูงมากนัก เพราะฐานของปี 67 ค่อนข้างสูง จากกระแสการย้ายฐานการผลิตเข้าไทย และการเติบโตสูงหลังเผชิญกับโควิด-19 

อีกทั้ง ปัจจุบันกำลังเผชิญกับภาวะไม่มีที่ดินตอบสนองนักลงทุนอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะนักลงทุนรายสำคัญของโลก ที่ต้องการพื้นที่จำนวนมาก จากปัญหาผังเมือง ทำให้ปัจจุบันมีพื้นที่พร้อมขายเพียง 25,215 ไร่ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี (EEC)
 

นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการกนอ. รักษาการผู้ว่าการกนอ. กล่าวว่า ปัญหาที่ดินไม่เพียงพอ เกิดจากผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมประมาณ 40 นิคม จาก 69 นิคมทั่วประเทศ โดย 40 นิคมพื้นที่รวมประมาณ 1 แสนไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่อีอีซี กำลังเจอปัญหาที่ประกอบด้วย 

  • ผังเมืองไม่สอดรับพื้นที่ลงทุน
  • ปัญหาขั้นตอนการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ (EIA) ทำให้ไม่สามารถรับนักลงทุนเข้าพื้นที่ได้ เรื่องนี้มีการสะท้อนปัญหาและผลักดันการแก้ปัญหามาตั้งแต่รัฐบาลชุดที่ผ่านมา ต่อเนื่องถึงรัฐบาลชุดนี้ 

โดยกนอ.ได้รายงานให้นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รับทราบแล้ว และทราบว่า นายเอกนัฏได้หารือเบื้องต้นกับนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแล้ว หลังจากนี้คาดว่าจะมีการหารือระดมแนวทางแก้ไขอย่างเร่งด่วนจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง 

"ปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้การลงทุนไทยสะดุด เนื่องจากมีนักลงทุนสนใจ เห็นได้จากการยื่นขอส่งเสริมผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) จำนวนมาก แต่เมื่อเข้ามาลงทุนจริงกลับติดกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งกนอ.พยายามแก้ปัญหาแต่ก็ใช้เวลา เพราะเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง เรื่องนี้ นายเอกนัฏ ให้นโยบายจะเร่งแก้ปัญหา ประสานกับทุกหน่วยงาน ให้พิจารณาแนวทางที่ทำให้ขั้นตอนต่างๆสะดวกขึ้น ไม่ถึงขั้นแก้กฎหมาย แต่ต้องขับเคลื่อนร่วมกันทุกฝ่าย โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปีนี้"