“พิพัฒน์” เล็งถกโรงพยาบาลเอกชน หาข้อสรุปปมร้อนประกันสังคม

03 ต.ค. 2567 | 03:20 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ต.ค. 2567 | 03:29 น.

รมว.แรงงาน เตรียมหารือโรงพยาบาลเอกชน หาข้อสรุปเกี่ยวกับการให้บริการแก่ผู้ประกันตนของโรงพยาบาลเอกชนเครือข่ายประกันสังคม หลังเจอปัญหาเอกชนทยอยออกจากประกันสังคมต่อเนื่อง

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เร็ว ๆ นี้ กระทรวงแรงงาน เตรียมนัดหารือร่วมกับโรงพยาบาลเอกชน เพื่อร่วมกันพิจารณาและหาข้อสรุปเกี่ยวกับปัญหาการให้บริการแก่ผู้ประกันตนของโรงพยาบาลเอกชนเครือข่ายประกันสังคม 

“เร็ว ๆ นี้ จะนัดหารือร่วมกัน และเชื่อว่าปัญหาต่าง ๆ น่าจะดีขึ้น โดยขอไปดูรายละเอียดอีกเล็กน้อย” นายพิพัฒน์ ระบุ

 

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

 

ทั้งนี้ที่ผ่านมา รมว.แรงงาน เคยหารือร่วมกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชนไปแล้วครั้งหนึ่งถึงประเด็นปัญหาอัตราการจ่ายและแนวปฏิบัติในการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่สถานพยาบาลประเภทผู้ป่วยในด้วยโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง และปัญหาการให้บริการแก่ผู้ประกันตนของโรงพยาบาลเอกชนเครือข่ายประกันสังคม 

เบื้องต้นในรายละเอียดของการแก้ปัญหาทั้งหมดนั้น รมว.แรงงาน ได้มอบหมายให้สำนักงานประกันสังคม รับเรื่องไปพิจารณาโดยด่วน แต่ขณะนี้ยังรอการแต่งตั้งเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมคนใหม่ก่อน หลังจากนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม คนเดิมได้รับการแต่งตั้งไปเป็นปลัดกระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา

ด้านนพ.ไพบูลย์ เอกแสงศรี นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวกับฐานเศรษฐกิจก่อนหน้านี้ว่า ที่ผ่านมาโรงพยาบาลเอกชน และผู้ประกันตน ได้รับผลกระทบหลังจากสำนักงานประกันสังคม มีหนังสือแจ้งอัตราการจ่ายค่าบริการทางแพทย์ ประเภทผู้ป่วยในที่ป่วยด้วยโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง (high-care หรือ RW>2) โดยปรับลดงบค่ารักษาลงถึง 40% จาก 12,000 บาทต่อหน่วย Adjusted RW เหลือเพียง 7,200 บาทต่อหน่วย 

“สมาคมโรงพยาบาลเอกชน ต้องการเข้าไปชี้แจงกับคณะกรรมการประกันสังคมเกี่ยวกับต้นทุนค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้น ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน แต่ตอนนี้ยังไม่ได้รับการตอบรับกลับมา และการรักษาผู้ป่วยก็ไม่สามารถรั้งรอเพื่อคำนวนรายจ่ายก่อนได้ และโรงพยาบาลเอกชนก็ไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐหรือหน่วยงานไหนเลย ฉะนั้นบางแห่งจึงแบกรับต้นทุนไม่ไหว และเลือกออกจากระบบประกันสังคม” นพ.ไพบูลย์ ระบุ

ปัจจุบันทั่วประเทศไทยมีโรงพยาบาลเอกชนรวมทั้งหมด 423 แห่ง เป็นสมาชิกโรงพยาบาลเอกชนจำนวน 345 แห่ง แบ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ 101 เตียงขึ้นไปจำนวน 133 แห่ง โรงพยาบาลขนาดกลาง 51-100 เตียงจำนวน 116 แห่ง และ โรงพยาบาลขนาดเล็ก 1-50 เตียงจำนวน 96 แห่ง ในจำนวนทั้งหมดมีรายชื่ออยู่ในระบบประกันสังคมเพียง 97 แห่ง เมื่อมีประกาศจากสำนักงานประกันสังคมปรับลดงบค่ารักษาลงจึงเกิดผลกระทบอย่างหนัก