หลังจากโรงพยาบาลเอกชน 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลกรุงเทพสุราษฎร์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในเครือ BDMS และโรงพยาบาลซีจีเอช CGH สายไหม กรุงเทพมหานคร ประกาศถอนตัวออกจากการเป็นคู่สัญญากับสำนักงานประกันสังคม โดยไม่ได้ระบุถึงสาเหตุ และจะยุติการให้บริการผู้ประกันตนจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2567 นี้ พร้อมแนะนำผู้ประกันตนมองหาสถานพยาบาลแห่งใหม่
สถานการณ์ดังกล่าวเป็นไปได้ว่ามีประเด็นสืบเนื่องมาจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ปรับลดการจ่ายค่ารักษาโรคยาก (high-care หรือ RW>2) สำหรับผู้ประกันตนจากบันทึกอัตรา 1.2 หมื่นบาท/RW เหลือเพียง 7,200 บาท/RW โดยผู้บริหารระดับสูง โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าเรื่องนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่ส่งสัญญาณมานานแล้ว
นอกจากนี้ ค่ารักษาในกลุ่มโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงหรือค่ารักษาโรคยาก (high-care หรือ RW>2) ยังไม่ได้ปรับเพิ่มจาก 12,000 บาท/RW มาเป็นเวลานานกว่า 5 ปีแล้ว
นายแพทย์ไพบูลย์ เอกแสงศรี นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2565-2566 ที่ผ่านมา สำนักงานประกันสังคมได้ปรับลดค่ารักษาพยาบาลสำหรับโรคที่มีค่า Adjusted RW มากกว่า 2 ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของทั้งสองปี ทำให้โรงพยาบาลเอกชนที่เป็นคู่สัญญากับประกันสังคมต้องเผชิญกับภาระขาดทุน ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อสถานะการเงินของโรงพยาบาล
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาที่พบบ่อยในโรงพยาบาลระบบประกันสังคมอีกหลายด้าน ดังนี้
อย่างไรก็ดีจากปัญหาและสาเหตุข้างต้น ทำให้โรงพยาบาลเอกชนทยอยออกจากระบบประกันสังคม และส่งผลกระทบต่อประชาชนในการใช้บริการ โดยเฉพาะการต้องย้ายไปใช้บริการในโรงพยาบาลของรัฐหรือโรงพยาบาลขนาดเล็ก ทำให้ไม่สะดวกในการเดินทาง ความแออัดในการเข้ารับการรักษา นอกจากนี้ยังพบว่า การประกาศรายชื่อบัญชียาสำหรับรักษาพยาบาลให้กับผู้ประกันตนใหม่ มียาหลายประเภทที่ไม่สามารถจ่ายให้กับผู้ป่วยในระบบประกันสังคมได้อีกต่อไป เช่น ยานวดบรรเทาปวด เป็นต้น ซึ่งทำให้ผู้ป่วยสูญเสียโอกาส และยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในการไปซื้อหายาเองด้วย