บทสรุป 1 ชม. ขุนคลัง - ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ปิดห้องคุย 4 ประเด็นร้อน

03 ต.ค. 2567 | 23:14 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ต.ค. 2567 | 06:54 น.

ถอดบทสรุป การหารือกว่า 1 ชม. ระหว่าง “พิชัย ชุณหวชิร” รองนายกฯ และรมว.คลัง กับ “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ บนเนื้อหาสำคัญ 4 ประเด็น ที่ต้องหาทางออกร่วมกัน

จับตากันมานานหลายสัปดาห์เกี่ยวกับประเด็นการนัดหารือร่วมกันระหว่าง นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กับ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือผู้ว่าฯแบงก์ชาติ เกี่ยวกับแนวทางการบริการนโยบายการเงิน และนโยบายการคลัง ร่วมกัน พร้อมทั้งประเด็นร้อนดอกเบี้ยนโยบาย และค่าเงินบาท ที่ผันผวน

จนล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2567 ทั้งคู่ได้มีโอกาสพบกันในงานเปิดตัวโครงการ Your Data ข้อมูลของคุณ สู่บริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ธปท. และหน่วยงานต่าง ๆ โดยงานนี้ แบงก์ชาติ เชิญรองนายกฯ “พิชัย” มาร่วมงานและปาฐกถาเกี่ยวกับประเด็นการยกระดับเศรษฐกิจการเงินดิจิทัลด้วยข้อมูล ซึ่งภายหลังเปิดงานเสร็จทั้งสองคนก็ได้นัดหารือร่วมกันตามคาดหมาย

 

บทสรุป 1 ชม. ขุนคลัง - ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ปิดห้องคุย 4 ประเด็นร้อน

 

สำหรับการหารือครั้งนี้ ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ และรองนายกฯ “พิชัย” ในฐานะของรัฐบาล และรองนายกฯที่ดูแลด้านเศรษฐกิจโดยตรง ใช้เวลาพูดคุยนานกว่า 1 ชั่วโมง ก่อนที่รองนายกฯ จะออกมาให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนที่เฝ้ารอจำนวนมาก โดยมีข้อสรุปสำคัญแยกเป็นประเด็นดังนี้

เรื่องค่าเงินบาท

รองนายกฯ เผยผลการพูดคุยครั้งนี้ว่า ทั้งสองฝ่ายเข้าอกเข้าใจกันดี และมองงานเดียวกัน ซึ่งการแก้ปัญหาเรื่องค่าเงินบาท หากจะแก้ไขในทันทีนั้น จำเป็นต้องดูผลกระทบอื่น ๆ ประกอบไปด้วย

“การแก้ปัญหาเรื่องของค่าเงินไม่ใช่เรื่องที่สามารถทำได้ด้วยการแก้ไขตรง ๆ ต้องดูว่าควรจะใช้เครื่องมือใด ก็ต้องลองไปตัดสินใจ และคณะกรรมการก็ต้องดูให้ละเอียด” นายพิชัย ระบุ

ส่วนผลกระทบที่เกิดกับภาคการส่งออกจากค่าเงินบาทแข็งค่านั้น ยอมรับว่า เรื่องนี้ต้องพิจารณาและวิเคราะห์ว่า ยอดส่งออกปัจจุบันนี้เป็นอย่างไรบ้าง แต่เชื่อว่าในเชิงปริมาณของการส่งออกไม่น่าจะมีผลกระทบ และส่วนตัวประเมินว่าการส่งออกก็น่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2567

เรื่องดอกเบี้ยนโยบาย

รองนายกฯ มองว่า ส่วนตัวยังยืนอยู่บนหลักการว่า เรื่องการลดดอกเบี้ยนโยบายเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 16 ตุลาคม 2567 นี้ แต่ก็ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการลดดอกเบี้ย นโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และ สหภาพยุโรป รวมถึงการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน

"สถานการณ์เหล่านี้นำไปสู่เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน หรือค่าเงิน ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ว่าจะเป็นอย่างไร และจากที่ติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทหลายวันมานี้ยังพอที่จะสามารถมอนิเตอร์ได้อยู่ และต้องปล่อยให้ กนง. ดู และคิดว่าที่ประชุมกนง. จะหยิบยกประเด็นสถานการณ์เศรษฐกิจดังกล่าวขึ้นมาหารือ"

 

บทสรุป 1 ชม. ขุนคลัง - ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ปิดห้องคุย 4 ประเด็นร้อน

 

เรื่องเป้าหมายเงินเฟ้อ

สำหรับการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อนั้น ตามปกติคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะหารือร่วมกับกระทรวงการคลังทุกปี เพื่อกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อที่เหมาะสมของไทยในแต่ละปี ล่าสุดในช่วงของการหารือระหว่างรมว.คลัง และผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ก็ได้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาหารือด้วย

นายพิชัย ระบุว่า ในเรื่องกรอบเงินเฟ้อ มองแนวโน้มในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2567 นี้ จะอยู่ที่ระดับ 1% และประเมินว่าทั้งปีมีแนวโน้มจะหลุดกรอบ ซึ่งภายในเดือนตุลาคม 2567 นี้ จะมีการนัดประชุมผู้ว่าการ ธปท. เพื่อหารือเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นทางการที่กระทรวงการคลัง

เรื่องการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน

การหารือระหว่างคลัง-แบงก์ชาติ ยังได้หยิบประเด็นปัญหา "หนี้ครัวเรือน" ขึ้นมาหารือ เพราะปัจจุบันตัวเลขหนี้สินครัวเรือน ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2567 หนี้สินครัวเรือนมีจำนวน 16,322,005 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 89.6% ต่อจีดีพี 

รองนายกฯ ยอมรับว่า ปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนถือว่ามีความสำคัญ และทุกวันนี้ประชาชนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน โดยการแก้ไขหนี้ครัวเรือนนั้นที่ผ่านมาสถาบันการเงินของรัฐได้ดำเนินการไปได้บางส่วนแล้ว ซุึ่งการแก้หนี้มีเพียงไม่กี่เครื่องมือที่จะสามารถช่วยได้ เช่น การยืดเวลาชำระหนี้เพื่อลดภาระหนี้ลง และการลดดอกเบี้ย

 

บทสรุป 1 ชม. ขุนคลัง - ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ปิดห้องคุย 4 ประเด็นร้อน

 

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม 

  • กลุ่มแรก คือ กลุ่มที่มีความสามารถในการชำระหนี้ จะพิจารณาปรับโครงสร้างหนี้ให้คนกลุ่มนี้ แต่จะไม่ใช่การลดหนี้โดยไม่มีเหตุผล 
  • กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มเปราะบาง มีจำนวนมากหลายแสนบัญชี แต่ยอดหนี้ไม่สูง ตอนนี้กำลังหาวิธีว่าจะมีความช่วยเหลือกลุ่มนี้อย่างไร

“ปกติเราจะไม่ไปลดหนี้ให้โดยไม่มีเหตุผล เพราะเป็นเรื่องของ moral hazard และโครงสร้างที่จะทำเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ ให้หนี้ครัวเรือนผ่อนปรนลง ส่วนรายละเอียดจะต้องลงลึกอีกนิดหนึ่ง โดยตอนนี้ได้หารือสถาบันการเงินไว้หลายแห่งแล้ว" นายพิชัย กล่าว

 

บทสรุป 1 ชม. ขุนคลัง - ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ปิดห้องคุย 4 ประเด็นร้อน

 

บทสรุปของการหารือครั้งนี้ : รองนายกฯ และรมว.คลัง ยอมรับว่า การหารือกับ ผู้ว่าฯธปท. ครั้งนี้ ถือว่ายังไม่จบ และกระทรวงการคลังจะนัดคุยกันอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งใจจะนัดหารือกันอีกครั้งภายในเดือนตุลาคม 2567 นี้ อีกครั้งหนึ่ง เพื่อลงลึกในรายละเอียดของเรื่องต่าง ๆ ต่อไป