ดร.ธนิต โสรัตน์ ประธานกรรมการในเครือบริษัทวี-เซิร์ฟ กรุ๊ป และรองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยถึง ทิศทางเศรษฐกิจไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 ว่า ปัจจัยความเสี่ยงเศรษฐกิจไตรมาสสุดท้ายเกี่ยวข้องกับผลกระทบภาคส่งออกจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งต้นตอมาจากการอ่อนค่าของเงินดอลล่าร์สหรัฐ รวมถึงราคาทองคำโลก ช่วง 7 เดือนแรกพุ่งสูงถึง 29%
ปัจจัยตัวแปรที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและไทย คือ วิกฤตเศรษฐกิจของจีน ทั้งด้านอสังหาริมทรัพย์ ตลาดทุน การขนาดสภาพคล่องทั้งครัวเรือนและธุรกิจ จนนำไปสู่หนี้เสียทำให้สถาบันการเงินของจีนอ่อนแอ โดยในช่วงที่ผ่านมาการส่งออกของไทยไปตลาดจีนขยายตัวเฉลี่ยอยู่ ที่ประมาณ 0.31% ดีกว่าปีที่ผ่านมาส่งออกไปจีนหดตัว
ขณะที่สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าส่งออกหมายเลขหนึ่ง ช่วงเดียวกันส่งออกขยายตัว 13.3% แต่การส่งออกของไปตลาดญี่ปุ่นหดตัว 6.86% เป็นการหดตัวต่อเนื่อง 3 ปี สำหรับกลุ่มอาเซียนและอียูหลายประเทศการส่งออกของไทยยังหดตัวสะท้อนถึงสภาวะเศรษฐกิจโลกที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจไทยได้เป็นอย่างดี
อย่าเหมาเงินบาทแข็งฉุดส่งออก
ทั้งนี้กระแสในปัจจุบันนอกเหนือจากกดดันให้ ธปท.ลดอัตราดอกเบี้ยและแทรกแซงค่าเงินบาท เกี่ยวข้องกับบริบทอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทแข็งค่าจะกระทบการส่งออกมากน้อยเพียงใด อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับสกุลดอลลาร์สหรัฐในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมามีความผันผวนไปในทางอ่อนค่า
จุดพีคอ่อนค่าสุดอยู่ที่ 37.07 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ (25 เม.ย. 67) และอัตรายังคงอ่อนค่าคงที่จนถึงต้นสิงหาคม อ่อนค่าต่ำสุดอยู่ที่ 32.258 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัจจัยเงินบาทแข็งค่าจะคุกคามกระทบภาคส่งออก ค่าเฉลี่ยช่วง 8 เดือน (ม.ค. - ส.ค. 67) เงินบาทแข็งค่าเฉลี่ย 9.77%
อย่างไรก็ตามการส่งออกมูลค่าเชิงเหรียญสหรัฐในช่วงเดียวกันขยายตัว 4.24% ในเชิงเงินบาทขยายตัวได้ถึง 9.88%
หากเปรียบเทียบ (ใช้อัตรา 30 ก.ย.67 ณ เวลา 12.00 น. เป็นฐาน) เฉพาะในช่วงบาทแข็งค่าเดือนกรกฎาคมเงินบาทแข็งค่าเฉลี่ย 10.50% มูลค่าส่งออกในรูปเงินสกุลบาทขยายตัวสูงถึง 21.77% เป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบหลายปีและข้อมูลล่าสุดเดือนสิงหาคม เงินบาทแข็งค่าเฉลี่ย 6.50% ขณะที่มูลค่าส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 7.04% และขยายตัวในรูปเงินสกุลบาท 13.05%
ข้อมูลเชิงประจักษ์ที่กล่าวแสดงให้เห็นว่าในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม ถึงแม้ว่าเงินบาทอยู่ในเทรนด์แข็งค่า แต่การส่งออกในเชิงเหรียญสหรัฐและเงินบาทยังขยายตัวได้ในระดับสูง ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นว่า การเหมาว่าเงินบาทแข็งค่าฉุดส่งออก คงบอกเช่นนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับความต้องการสินค้า-คำสั่งซื้อเดิมและประเทศคู่แข่ง แพราะอัตราแลกเปลี่ยนก็แข็งค่าเช่นกัน
เทียบบาทแข็งต่อภาคการนำเข้า
ดร.ธนิต ระบุว่า บริบทการแข็งค่าของเงินบาทมีผลทางบวกต่อภาคการนำเข้า ซึ่งมูลค่าการส่งออกและนำเข้าของไทยค่อนข้างใกล้เคียงกัน ในรายงานนี้นำสินค้านำเข้าหลัก 4 ตัวมาพิจารณากล่าวคือ
“อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่แข็งค่า ย่อมทำให้มูลค่าของสินค้าที่นำเข้าในรูปแบบต่างๆ ทั้งเพื่อการบริโภคในประเทศหรือนำมาผลิตเพื่อการส่งออก โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ ราคาจะลดลงประมาณ 5 – 6% ในทางกลับกันสินค้าส่งออก จะขายสินค้าได้ยากขึ้นหรือต้องลดราคาเพื่อแข่งขันซึ่งการแข็งค่าของอัตราแลกเปลี่ยนทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลต่าง ๆ ในภูมิภาคจะแข็งค่าสอดคล้องกันเพียงแต่ประเทศไทย และมาเลเซียที่อัตราแข็งค่ามากกว่าชาวบ้าน” ดร.ธนิต ระบุ
ผลกระทบพยากรณ์ได้ยาก
ดร.ธนิต ยอมรับว่า ผลกระทบการส่งออกจากเงินบาทที่ผันผวน เป็นเรื่องที่พยากรณ์ได้ยากเกี่ยวข้องกับภาวะการเก็งกำไร (Speculate) สกุลเงินบาทเป็นสกุลเงินที่ค้าขายกันในตลาดการเงินของโลก แสดงถึงความแข็งแกร่งและความเชื่อมั่นเกี่ยวข้องกับการที่ไทยมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ (ณ ส.ค. 67) อยู่ในระดับสูงที่ 262,169.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สามารถนำเข้า โดยไม่ส่งออกถึง 10.9 เดือน
ขณะที่หนี้สาธารณะของไทย ส่วนใหญ่เป็นเงินสกุลบาทและมีทุนสำรองที่เป็นทองคำอยู่ถึง 231.63 ตัน เป็นมูลค่า 18,878 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดอันดับที่ 18 ของโลก เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินบาทของไทยแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐที่อยู่ในช่วงอ่อนค่า
แจกเงิน 10,000 มีผลดีกว่าไม่ทำอะไร
ดร.ธนิต มองว่า ปัจจัยเชิงบวกที่มีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้าย คือการแปลงเงินดิจิทัลวอลเล็ต คนละ 10,000 บาท ไปเป็นการจ่ายเงินสดผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทำให้เข้าถึงประชาชนกลุ่มเปราะบางโดยตรง ถึงเวลานี้คงไม่ใช่ ยังคงพูดว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยในภาวะเศรษฐกิจซบเซา ประชาชนติดกับดักหนี้ครัวเรือนและภัยน้ำท่วม เงิน 1.455 แสนล้านบาท เป็นเงินก้อนใหญ่ที่ไหลลงไปสู่รากหญ้า ถึงแม้ว่าจะมีส่วนช่วยใน GDP เพียง 0.25 - 0.35%
ทั้งนี้เงินที่สะพัดจะส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยมีส่วนช่วยกระตุ้นการบริโภค ถึงแม้จะระยะสั้นอยู่ไม่เกินสิ้นปีนี้ แต่จะมีผลผ่านไปสู่ภาคธุรกิจ ทั้งค้าส่ง/ค้าปลีก และภาคบริการที่อยู่ในโซ่อุปทาน ขณะที่ภาคการผลิตอาจมีผลไม่มากนักในการเพิ่มกำลังการผลิต การกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงสิ้นปีเงินจะถูกดูดซึมอย่างรวดเร็ว อาจมีผลไม่มากต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจซบเซาได้อย่างเป็นนัย แต่ก็ดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย
อย่างไรก็ตามในระดับท้องถิ่นเป็นการเติมกระแสเงินสด เพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจรายย่อย หาบเร่- แผงลอย ร้านค้ารายเล็กไปจนถึง SMEs ถึงแม้ว่าเงิน 1 ใน 3 หรือมากกว่าอาจไปอยู่ในมือกลุ่มทุนใหญ่ อีกทั้งการไหลออกของเงินไปนอกประเทศจากการซื้อสินค้าออนไลน์ของจีน
อย่างไรก็ดีเงินกระตุ้นเศรษฐกิจก้อนนี้บวกกับภาคท่องเที่ยวที่ยังขยายตัว เป็นการสร้างซอฟท์พาวเวอร์ที่เป็นตัวเงินเติมเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ ด้านส่งออกยังมีความเสี่ยงว่าเศรษฐกิจโลกจะทรุดตัวลงกว่าที่ผ่านมา หรือไม่
“ประเด็นคำถามเงินบาทจะยังแข็งค่าต่อไปหรือไม่ มีการพยากรณ์ว่า หากธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ไม่เข้าไปแทรกแซง อัตราแลกเปลี่ยนจะไปถึงระดับ 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ที่กล่าวล้วนเป็นปัจจัยที่มีผลต่อทิศทางเศรษฐกิจไตรมาสสุดท้ายของปีที่อาจขยายตัวไปได้ 2.7% เพียงขอให้ทีมเศรษฐกิจและกระทรวงเศรษฐกิจ รวมถึง ธปท. ช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไทยก้าวพ้น ไม่ใช่ช่วงเวลาเวลาจะมาเล่นการเมืองหรือวิวาทะผ่านสื่อไม่ได้ประโยชน์อะไร” ดร.ธนิต กล่าวทิ้งท้าย