ไทยผุด "IEEE-ISC2-2024" รุกนวัตกรรม ยกระดับไทยสู่ "เมืองอัจฉริยะ"

07 ต.ค. 2567 | 10:59 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ต.ค. 2567 | 13:34 น.

ไทยผุด "IEEE-ISC2-2024" รุกนวัตกรรม ยกระดับไทยสู่ "เมืองอัจฉริยะ" ชี้เป็นแนวทางหลักของการพัฒนาเมืองทั่วโลก ระบุช่วยเรื่องความสะดวกทุกด้าน ทั้งเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การใช้พลังงานมีประสิทธิภาพ

นายวิลาศ เฉลยสัตย์ นายกสมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) หรือ IEEE Power & Energy Society (Thailand) และในนามผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการวางแนวทางการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในอนาคต เพื่อยกระดับการอำนวยความสะดวกในทุกด้าน ทั้งในเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ลดปัญหาการจราจร เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และยังก่อให้เกิดแนวทางการดำเนินธุรกิจในรูปแบบใหม่ ที่สอดคล้องกับโลกในปัจจุบันและอนาคต 

"ปัจจุบันเทคโนโลยีเมืองอัจฉริยะหรือ สมาร์ทซิตี้ (Smart City) ได้ก้าวขึ้นมาเป็นแนวทางหลักของการพัฒนาเมืองทั่วโลก เนื่องจากจะช่วยยกระดับการอำนวยความสะดวก"

ทั้งนี้ ด้วยความสำคัญดังกล่าวได้สร้างกระแสการพัฒนาเมืองของไทยไปสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้ในหลายพื้นที่ทั้งการพัฒนาเมืองขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก ที่สอดคล้องกับบริบทของท้องถิ่น จึงทำให้ไทยก้าวขึ้นมีความโดดเด่นในด้านนี้ 
 

ล่าสุด IEEE PES Thailand Chapter ได้ดำเนินการจัดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการนานาชาติด้านเมืองอัจฉริยะ ครั้งที่ 10 หรือ 10th IEEE International Smart Cities Conference (IEEE-ISC2- 2024) ภายใต้แนวคิดหลัก เมืองอัจฉริยะ : การปฏิวัติเพื่อมนุษยชาติ ซึ่งได้จัดขึ้นที่ประเทศไทยรวมถึงอาเซียนเป็นครั้งแรก หลังจากได้มีการจัดมาอย่างต่อเนื่องทุกปีในหลากหลายประเทศ ทั้งในยุโรปและอเมริกา 

ไทยผุด "IEEE-ISC2-2024" รุกนวัตกรรม ยกระดับไทยสู่ "เมืองอัจฉริยะ"

รศ.ดร.นพพร ลีปรีชานนท์ อุปนายกด้านการจัดประชุมวิชาการ (IEEE PES Vice Chair Meeting and Conference) กล่าวว่า งานดังกล่าวถือว่าเป็นการจัดงานด้านสมาร์ทซิตี้ที่สำคัญของโลก เนื่องจากเป็นเวทีการประชุมวิชาการและนิทรรศการนานาชาติที่เปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย จากหลากหลายสาขาในองค์กรชั้นนำทั่วโลกได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ เกี่ยวกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ 

ซึ่งมีการเจาะลึกหัวข้อพิเศษ เช่น การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนเพื่อเสริมสร้างสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในเมืองอัจฉริยะ, การสร้างสมดุลความปลอดภัยทางไซเบอร์และการบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เป็นต้น
 

รศ.ดร.มนตรี วิบูลยรัตน์ ประธานการจัดงานประชุม IEEE ISC2 2024 กล่าวว่า IEEE ISC2 2024 จะมีการนำเสนอเทคโนโลยีล้ำสมัยเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตในเมือง โดยผู้เชี่ยวชาญจะหารือเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน การจัดการพลังงาน การเดินทาง และการมีส่วนร่วมของประชาชน 

"งานดังกล่าวถือเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยในการแสดงศักยภาพด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ กระตุ้นการวิจัย และพัฒนานวัตกรรมสำหรับเมืองอัจฉริยะ ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือของผู้นำด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะระหว่างประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต" 

ไทยผุด "IEEE-ISC2-2024" รุกนวัตกรรม ยกระดับไทยสู่ "เมืองอัจฉริยะ"

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า งานนี้จะสร้างผลกระทบเชิงบวกทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งก่อให้เกิดคุณประโยชน์ต่อเนื่องจากการจัดงาน สร้างคุณูปการในระยะยาวต่อเมืองพัทยา รวมไปถึงเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และประเทศไทยไปจนถึงระบบนิเวศด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของโลก

นอกจากนี้ IEEE ISC2 2024 ยังสอดคล้องกับนโยบาย Ignite Thailand ด้านวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของประเทศไทย อีกทั้งยังตรงตามอุตสาหกรรมเป้าหมายของทีเส็บในการผลักดันให้เกิดการจัดงานประชุมนานาชาติด้าน Urban Quality of Life and Mobility เพื่อเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม