นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การสรรหาประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่นั้น ขอไม่พูดถึงตัวบุคคล และไม่พูดถึงกระบวนการสรรหาว่ามีการดำเนินการอย่างไร แต่พูดถึงหลักการการแต่งตั้งว่า เวลาดูเรื่องคนที่เหมาะสม ต้องพิจารณาให้รอบด้านพิจารณาจากความรู้ความสามารถ ประสบการณ์และทักษะในมิติของการเงินและการคลัง
“เราทราบกันดีว่าการเงินและการคลังมองแยกกันไม่ได้ คนที่เหมาะสม จะต้องมองมิติทั้งสองขาควบคู่กันไป จะเอานักการเงินจ๋าๆ มาเลยก็จะมองภาพเฉพาะการเงิน ถ้ามุมมองนักเศรษฐศาสตร์การคลังจ๋า ก็จะมีมุมที่อาจจะยังไม่ครบถ้วน ดังนั้นในหลักการควรมีความครอบคลุมและรอบด้าน”
ทั้งนี้ อยากเห็นการทำงานระหว่าง ธปท.และคลัง ที่ต้องทำงานควบคู่กัน และทำงานใกล้ชิดกัน ก็อาจมีการเห็นตรง เห็นต่างกันบ้าง ยิ่งมีการทำงานใกล้กัน ยิ่งต้องมีการแลกเปลี่ยนกัน อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าใครจะมาเป็นประธานบอร์ด ธปท.คนใหม่ กระทรวงการคลัง และ ธปท.จะต้องปรับจูนกัน หารือกัน แลกเปลี่ยนกันมองเศรษฐกิจให้ตรงกัน
นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า หลังจากที่ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้หารือร่วมกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมานั้น ผลการหารือเป็นเชิงบวก มีความเข้าใจตรงกันมากขึ้น มีมุมมองทางเศรษฐกิจที่ใกล้เคียงกันมากขึ้น
ทั้งนี้ ฝั่งธปท.ได้รับทราบความกังวลของกระทรวงการคลังในมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความผันผวนของค่าเงิน ที่แข็งค่าเกินภูมิภาค เรื่องกรอบเงินเฟ้อ หรือเรื่องส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้
“เราคาดหวังว่าจะเอาปัจจัยเหล่านี้ไปคุยในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เพื่อช่วยให้การปรับหรือไม่ปรับดอกเบี้ย มีข้อมูลที่ความครบถ้วนยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นเอกสิทธิ์ แต่เราได้สื่อสารไปแล้ว เราก็ต้องให้เกียรติกัน“
ส่วนการปรับกรอบเงินเฟ้อในปี 2568 นั้น กรอบเงินเฟ้อมีสองมิติ คือ มิติแรก กรอบนั้นเหมาะสมหรือไม่ และอีกมิติ ถ้าเงินเฟ้อไม่เข้ากรอบจะดำเนินการอย่างไร