KEY
POINTS
ปัจจุบัน การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) หนึ่ง ในหน่วยงานภายใต้การดูแลของกระทรวงคมนาคม มีแนวคิดการพัฒนาท่าเรือต่างๆเพื่อผลักดันเป็นท่าเรือสีเขียวที่ช่วยลดมลพิษทางอากาศ ตลอดจนการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ในอนาคต
นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยในงานสัมมนา “Road to Net Zero 2024 The Extraordinary Green” จัดโดย ฐานเศรษฐกิจ ว่า สำหรับการพัฒนาท่าเรือสีเขียวสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางเรือ (Green Port) นั้น ในปี 2567 พบว่าปริมาณการขนส่งสินค้าทางเรือของท่าเรือแหลมฉบัง เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 10.7 ล้านที.อี.ยู. สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทย
ปัจจุบันไทยอยู่ลำดับที่ 17 ของโลก หากต้องการให้ไทยเป็นฮับการขนส่งทางเรือจำเป็นที่ไทยต้องเป็นศูนย์กลางในภูมิภาค ซึ่งจะทำให้ต้นทุนในภาพรวมการขนส่งสินค้าในสายเรือต่าง ๆ มาใช้บริการมากขึ้น
ทั้งนี้จากปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้กทท.เตรียมดำเนินการศึกษาท่าเรือเพื่อปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ทั้งระบบภายในปีพ.ศ. 2568 โดยตั้งเป้าหมายสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี พ.ศ.2593 โดยกทท.มีภารกิจที่มุ่งเน้นการพัฒนาท่าเรือที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยที่สุด สามารถรองรับการขนส่งโลจิสติกส์และบริหารจัดการได้ทั้งระบบ
ขณะเดียวกันกทท.จะอาศัยความชำนาญของภาคเอกชนมาบริหารจัดการท่าเรือแหลมฉบัง โดยการออกนโยบายเพื่อเป็นท่าเรือสีเขียวทั้งระบบ ผ่านการนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น เทคโนโลยี 5G ,พลังงานสะอาด, พลังงานทดแทน รวมถึงการประยุกต์ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น
นายเกรียงไกร กล่าวต่อว่า การก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 นั้น เบื้องต้นกทท.ได้กำหนดแผนพัฒนาท่าเรือสำหรับการเป็นท่าเรือสีเขียวอย่างสมบูรณ์ โดยผู้รับสัมปทานต้องดำเนินการออกแบบท่าเรือในการลดการปล่อยของเสีย ,การใช้เครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงการพัฒนาชุมชนโดยรอบให้เกิดประโยชน์
ส่วนท่าเรือระนองซึ่งติดกับชายฝั่งทะเลอันดามัน ปัจจุบันมีปริมาณการขนส่งสินค้าเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลนี้ โดยมุ่งเน้นการใช้จังหวัดระนองเป็นจุดเชื่อมโยงทำให้เกิดความสนใจจากนักลงทุนเป็นจำนวนมาก
“โครงการแลนด์บริดจ์ ถือเป็นโครงการนำร่องที่เชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจเอเชียตอนใต้ เนื่องจากเป็นการขนส่งสินค้าทางเรือที่ใกล้ที่สุดเมื่อเทียบกับการขนส่งสินค้าทางถนน ขณะเดียวกันกทท.มีแผนพัฒนาท่าเรือระนองอีกมิติที่มุ่งเน้นด้านเศรษฐกิจสู่การเป็นท่าเรือสีเขียวควบคู่ไปพร้อมกัน” นายเกรียงไกร กล่าว
ที่ผ่านมาการบริหารจัดการท่าเรือกรุงเทพนั้น กทท.ได้ดำเนินการเปลี่ยนอุปกรณ์เครื่องจักรต่างๆที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเครื่องมืออุปกรณ์ไฟฟ้า เพื่อลดการปล่อยของเสีย รวมถึงการส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น เช่น รถยกสินค้าภายในเขตท่าเรือ เป็นต้น
นอกจากนี้การทำงานร่วมกับภาคธุรกิจเพื่อส่งเสริมท่าเทียบเรือ ตลอดจนการบริหารจัดการท่าเรือทั้งระบบ สู่การลดคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งกทท.ให้ความสำคัญในการบริหารท่าเรือสีเขียว โดยมุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาด รวมทั้งการนำรถพลังงานไฟฟ้ามาปรับใช้ภายในเขตท่าเรือ เป็นต้น
สำหรับยุทธศาสตร์ของกทท. คือ การทำให้ท่าเรือของกทท.เป็นท่าเรือชั้นนำของโลก ควบคู่กับการให้บริการธุรกิจด้านโลจิสติกส์ที่เหมาะสมกับภาคธุรกิจที่มีต้นทุนต่ำ ตลอดจนการสร้างความยั่งยืน ดังนี้
1.การนำเทคโนโลยีมาใช้ (Digitalization) และ 2.การบริหารจัดการก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonzation) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกัน รวมถึงการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์มาใช้ในการขับเคลื่อนเพื่อลดของเสีย
อย่างไรก็ตามการพัฒนาท่าเรือให้เกิดประโยชน์สูงสุดสอดรับกับนโยบายของภาครัฐและประเทศได้ต่อเมื่อการนำเทคโนโลยีมาใช้ (Digitalization) และการบริหารจัดการก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonzation) จะทำให้เกิดความยั่งยืนของประเทศได้
เมกะโปรเจ็กต์ หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,034 วันที่ 10 - 12 ตุลาคม พ.ศ. 25