นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยในงานเสวนาพิเศษหัวข้อ MICE สร้างงาน สร้างเมือง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่สากล ว่า ประเทศไทยมีความพร้อมมากกว่าการจัดประชุม เนื่องจากนักท่องเที่ยวไมซ์ไม่ได้มาประชุมอย่างเดียว แต่มีการใช้จ่ายรวมมากกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปถึง 3.5 เท่า
ทั้งนี้ รัฐบาลจึงเปลี่ยนบทบาทให้เป็น Bid Agent ดึงงานใหญ่เข้ามาจัดในประเทศไทย ทีเส็บจึงมองเรื่องแฟนเบส (Fanbase) ซึ่งมีความหลากหลายและมีรายละเอียดมาก เช่น งาน Money 20/20 มหกรรมเทคโนโลยีด้านการเงิน (FinTech) หรืองานประชุมทางการแพทย์สายต่าง ๆ รวมถึงงานแข่งรถฟอร์มูลาวัน 2027 ซึ่งประเทศไทยยังมีโอกาสที่จะได้เป็นเจ้าภาพ
"หากได้จัดงานแข่งรถฟอร์มูลาวัน 2027 จะได้ถนนที่ดีมาก เกิดเป็น City Change มีการพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ มีการจ้างงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านรายได้ ซึ่งจะเห็นได้จากค่าโรงแรมในช่วงที่สิงคโปร์จัดงาน F1 ว่ามีราคาสูงกว่าปกติถึง 3 เท่า"
อย่างไรก็ดี ทีเส็บยังคงดำเนินการขยายพื้นที่จัดงานเมกะอีเวนต์ในต่างจังหวัด ได้แก่ งาน Diamond of the Salt Festival ที่เพชรบุรี ,งาน Korat Clay Craft Creation 2024 ที่นครราชสีมา รวมถึงมหกรรมพืชสวนโลก 2026 ที่อุดรธานี และ 2029 ที่นครราชสีมา
นายวุฒิธร มิลินทจินดา ประธานบริษัท วู้ดดี้เวิลด์ จำกัด และคณะอนุกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ด้านเฟสติวัล กล่าวว่า แนวโน้มของงานจะเริ่มเป็นกลุ่ม Niche มากขึ้น หรือเรียกว่าเป็นกลุ่มที่มีความสนใจเฉพาะทาง เช่น กลุ่ม LGBTQ+ ซึ่งปีนี้ประเทศไทยได้จัดเดินพาเหรดไปแล้วเมื่อเดือนมิถุนายน
ส่วนปีหน้าอาจจัด River Parade LGBTQ+ โดยใช้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นโลเคชั่นในช่วงต้นเดือนตุลาคม โดยมีเป้าหมายคือกลุ่มนักท่องเที่ยว LGBTQ+ ชาวจีนที่จะได้เดินทางมาในช่วงวันหยุดยาวของจีน เป็นต้น
"ด้วยความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยที่สามารถจัดงานเฟสติวัลทั่วประเทศมามากกว่า 10,000 งานต่อปี เชื่อว่าอีก 10 ปี ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางของงานเฟสติวัลอย่างแน่นอน"