นายสุทธิกร กิ่งแก้ว ผู้บริหารโครงการวิจัยสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยในงานเสวนาสุราชุมชน โกอินเตอร์ ว่า ความท้าทายของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในขณะนี้ คือ การทำธุรกิจในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว
กฎระเบียบในการจัดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ยังดูไม่เหมาะสมเท่าใดนัก เช่น การกำหนดเวลาขายไม่สมเหตุสมผล และยังห้ามในวันสำคัญทางศาสนา ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นประเด็นสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
ทั้งนี้ ในมุมนักท่องเที่ยวต่างชาติ ระบุว่า เป็นผู้ดื่มอย่างมีความรับผิดชอบและการได้ดื่มจะช่วยเสริมสร้างประสบการณ์ที่ดี เมื่อได้ดื่มอย่างปกติ และเข้าถึงได้ในราคาที่เหมาะสม ดังนั้น ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมของนักท่องเที่ยว
ขณะที่กฎหมายการโฆษณา ก็เป็นประเด็นสำคัญเช่นกัน เพราะกฎหมายที่ไม่ชัดเจน นำไปสู่การเปิดให้ทางเจ้าหน้าที่บางรายใช้เรียกสินบนจากผู้ประกอบการ
ส่วนโครงสร้างภาษีสรรพสามิตที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยังมีความไม่สมเหตุสมผลหลายประการ เช่น การเก็บภาษีสรรพสามิตที่มีฐานทั้งจากปริมาณแอลกอฮอล์และมูลค่าของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น สุราขาว ที่มีปริมาณการขายสูงสุด อีกทั้งยังมีแอลกอฮอล์ที่เก็บภาษีได้ในระดับที่ต่ำมาก ซึ่งการเน้นที่ปริมาณแอลกอฮอล์จะช่วยลดผลกระทบข้างเคียง เช่น การเมาแล้วขับ จนเกิดอุบัติเหตุ การทะเลาะวิวาท
“การปรับลดภาษีอย่างเหมาะ จะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม และเกิดซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเครื่องดื่มแบบค็อกเทล ที่ในแต่ละร้าน มีสูตรและส่วนผสมค็อกเทลที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จะช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยว รวมถึงทำให้เกิดการหมุนเวียนทางด้านรายได้ภายในประเทศ และการจ้างงาน"
นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ กล่าวว่า หลังจากปี 2563 มีประชาชนเริ่มมาทำสุราชุมชนมากขึ้น จากพื้นเพเดิมที่ประเทศไทยสามารถทำสุราได้ เช่น สาโท เหล้าอุ ขณะที่ต่างชาติก็มีสุราท้องถิ่น เช่น จีนมีเหมาไถ ญี่ปุ่นมีสาเก เกาหลีใต้มีโซจู
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีการพิจารณากฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อสนับสนุนให้มีการผลักดันสุราชุมชนมีโอกาสทางเศรษฐกิจ และสร้างการรู้จักมากยิ่งขึ้น
“ย้อนกลับไปในสมัยนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีนโยบายทำโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งสุราก็เป็นสินค้าที่ทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่เกิดรายได้มากขึ้น รวมถึงมีการจัดงานอีเวนต์ต่างๆ ให้กับผู้ประกอบการเกี่ยวกับสุราชุมชนเข้าร่วมงาน และเริ่มแก้ไขกฎหมายเรื่อยมา”
นายเก่งการ เหล่าวิโรจนกุล ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จํากัด กล่าวว่า ฐานะผู้นําเข้า และจัดจําหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากต่างประเทศนั้น เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับสุราชุมชน
อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นที่ต้องแก้ไข คือ 1.กฎหมายที่เอื้ออำนวยกับการให้รายย่อยผลิตสุราได้ ,2.กฎหมายที่เอื้อต่อการขาย ทั้งการปลดล็อกกำหนดเวลาการจำหน่าย รวมถึงการโฆษณา และ3.ความร่วมมือ และการพัฒนาให้สุราไทยโกอินเตอร์ได้
บริษัท ดิอาจิโอ ของไทยนั้น เป็นแบรนด์ที่อยู่มา 200 ปีแล้ว เมื่อก่อนก็เป็นสุราพื้นบ้านของสกอตแลนด์ ซึ่งสกอตแลนด์เก่งในเรื่องของการ ผลิตวิสกี้ ซึ่งไทยก็สามารถผลิตทุกแบบ แต่สิ่งสำคัญคือคุณภาพ แพคเกจจิ้งการทำตลาด และทำอย่างไรให้นึกถึงแบรนด์ได้ ส่วนตัวถ้ามองให้คะแนน 0-100 คิดว่า ไทยยังไม่ถึง 10 คะแนน โดยไทยนับว่าอยู่ในช่วงตั้งไข่ แต่เชื่อว่าเป็นสิ่งที่พยายามช่วยกันสร้างให้ดีขึ้นได้
ทั้งนี้ ดิอาจิโอ สามารถสนับสนุนอุตสาหกรรมสุราพื้นบ้านไทยได้โดย 1.การพัฒนาสถานที่ผลิตให้มันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้ด้วย อีกตัวอย่างหนึ่ง ที่สกอตแลนด์ มี Johnnie Walker Princes Street และ 2.การตลาด ที่หากรัฐบาลได้เจรจาความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA กับยุโรปและอังกฤษ รวมทั้งนำภาษีบรรจุไปในสินค้าที่ได้รับยกเย้นภาษี ก็จะเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยไปเปิดตลาดในยุโรปได้ แต่ในระยะอันใกล้นี้ จากที่มีไทยเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ AFTA ก็ลองส่งออกไป 10 ประเทศ เพื่อนบ้านก่อนก็ได้
นางสาวประภาวี เหมทัศน์ กรรมการบริหาร บริษัท กรุ๊ปบี จำกัด และเลขาธิการสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจคราฟเบียร์ กล่าวว่า ในช่วงปี 2 ปีที่ผ่านมา มีผู้ให้ความสนใจต้องการนำเหล้า สุราชุมชน หรือคราฟเบียร์ ส่งออกไปขายต่างประเทศเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเกาหลี ไต้หวัน ฮ่องกง ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา หรือยุโรปก็มี ซึ่งแปลว่าสินค้าไทยโดยเฉพาะอาหารไปได้ไกล และคิดว่าเครื่องดื่มไทย ก็มีโอกาสที่จะไปได้ไกลระดับโลกเหมือนกัน
แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือ ผู้ผลิตเหล้าชุมชนนั้น คือรายย่อย ที่ไม่มีความเข้าใจหรือความรู้เรื่องการส่งออก สิ่งแรกคือต้องการให้ภาครัฐให้ช่วยเหลือให้เข้าแนะนำและสร้างความเข้าใจ ขณะที่สมาคมจัดตั้งขึ้นเพื่อเข้าไปทำเรื่องกฎหมายที่ช่วยปลดล็อกคราฟเบียร์ รวมถึงสุราชุมชน โดยการเข้าไปนั่งคณะกรรมาธิการในการแก้กฎหมาย เนื่องจากสมาชิกต่างมองเห็นว่า กฎหมายที่เป็นอุปสรรคหลัก ที่ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยไม่สามารถพัฒนาสินค้าและธุรกิจได้
ส่วนเรื่องของภาษีสรรพสามิตนั้น เป็นต้นทุนที่ทำให้ คราฟเบียร์ ราคาสูงจน คนไม่ค่อยกิน ดังนั้น เรื่องภาษีก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ ที่สมาคมฯ พยายามจะเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขต่อไป