นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ได้เปลี่ยนระบบการค้าโลกใหม่หมด โดยสหรัฐและยุโรปเริ่มมีการตั้งกำแพงภาษีสินค้าจีน ซึ่งทำให้จีนที่เป็นฐานการผลิตของโลก ส่งออกสินค้าไปยังประเทศเหล่านี้ไม่ได้ เกิดเป็นภาวะผลิตสินค้าส่วนเกิน (Over Supply) และสินค้าเหล่านั้นจึงล้นเข้ามาในอาเซียน กลายเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของจีนแทนสหรัฐ
อย่างไรก็ตาม สินค้าที่ล้นทะลักเข้ามาทำให้เอสเอ็มอี (SMEs) ไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักในปี 2566 มี 22 กลุ่มอุตสาหกรรมที่พบว่ามีการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
และในปี 2567 หากยังไม่มีมาตรการรับมือที่ดีพอ จะทำให้สินค้าราคาถูกที่ไม่มีคุณภาพ ไม่ได้มาตรฐานอาจได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นเป็น 30 กลุ่มอุตสาหกรรม และจะกลายเป็นปัญหาใหญ่
"ไทยอาจยังไม่จำเป็นต้องกำหนดมาตรการกำแพงภาษี แต่จะต้องมีมาตรการที่จริงจังในการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐาน ตรวจจับการลักลอบนำเข้า รวมทั้งการสำแดงเท็จ เพื่อชะลอการหลั่งไหลของสินค้าที่ทะลักเข้ามาได้บ้าง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน"
นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า ในทุกวิกฤติก็ยังมีโอกาส สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการปรับตัวของผู้ประกอบการ ที่จะต้องมีกลยุทธ์ในการหาตลาดใหม่ ซึ่งหากปรับไม่ทันอุตสาหกรรมนั้นก็จะอ่อนแอลง
ทั้งนี้ ในช่วงที่มีความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ปะทุขึ้นนำไปสู่ปัญหาราคาพลังงาน รวมไปถึงต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้น ส่งผลทำให้สินค้าต่าง ๆ มีราคาเพิ่มขึ้น จากนั้นสงครามระหว่างอิสราเอล-ฮามาสที่ยังต้องจับตาว่าจะขยายวงกว้างขึ้นหรือไม่
อย่างไรก็ดี ต้องเรียนว่าความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์มีทั้งผลบวกและลบต่อไทยในเวลาเดียวกัน เริ่มแรกเมื่อเกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ทำให้ไทยที่กำลังปรับตัวสู่โลกาภิวัตน์ (Globalization) ต้องเข้าใจเรื่องโลกแบ่งขั้ว (Decoupling) แทน
ส่วนสิ่งที่ตามมาคือซัพพลายเชนที่ได้รับผลกระทบว่าจะต้องเลือกผลิตด้วยเทคโนโลยีของฝั่งใคร และไทยจะยืนอยู่ตรงไหน เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังมากที่สุด