นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า แนวคิดการจัดเก็บภาษี Negative Income Tax (NIT) เบื้องต้น อยู่ในขั้นตอนของการศึกษา คาดว่าน่าจะเห็นได้ในอีก 1-3 ปี ซึ่งตามที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่า จะมีการศึกษาเรื่องการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้ใหม่ โดยที่ผ่านมา สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้มีการศึกษาไว้แล้ว เมื่อหลายปีก่อน และกรมสรรพากรก็เคยหยิกยกเรื่องนี้ขึ้นมาดูเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเรื่องดังกล่าวผ่านมานานแล้ว รูปแบบของ Negative Income Tax ในระดับนานชาติได้ก้าวไปอีกจุด จากเดิมหลักการ NIT คือ การชดเชยภาษีให้กับคนที่จ่ายภาษีให้รัฐ คือ ถ้าบุคคลหนึ่งเคยทำงานและจ่ายภาษีต่อเนื่อง แต่มาวันหนึ่งตกงานรัฐบาลก็ต้องมีวิธีการใช้เงินภาษีที่ได้ไปช่วยในรูปแบบต่างๆ แต่ปัจจุบัน นิยามได้เปลี่ยนไปเพราะ NIT ได้ถูกมองถึงเรื่องของดูแลแบบสวัสดิการมากขึ้น
“เราจึงต้องหยิบสิ่งที่เคยศึกษามาดู และได้มีการนัดหมาย สศค. และสรรพากรมาพูดคุยกันว่า ได้ศึกษาไปถึงไหน เราจะได้ไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ หลังจากนั้นจะมีการร่วมกันศึกษา และหากได้ข้อสรุปก็จะนำเรื่องเข้าที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป”
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องทำอย่างแรก เพื่อให้เกิดระบบ NIT คือ การดึงทุกคนเข้ามาอยู่ในระบบภาษี ไม่ว่าจะอยู่ในเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษีหรือไม่ก็ตาม แล้วรัฐบาลก็ต้องตั้งเส้นวัดรายได้ขึ้นมา
เพื่อคัดกรองว่าใครมีรายได้ต่ำกว่าเส้นดังกล่าว ก็ต้องมีกลไกในการคืนภาษีเพื่อเข้าไปช่วยเหลือ แต่คนที่จะได้รับการช่วยเหลือก็ต้องมีการจ่ายภาษีมาในระดับหนึ่ง ถูกจะช่วยได้เต็มรูปแบบ ส่วนคนที่ไม่ทำงานเลย รัฐบาลอาจจะช่วย แต่ก็คงไม่ได้ช่วงเยอะ เพื่อให้เกิดลักลั่นในระบบ
ทั้งนี้ หากถึงจุดที่ NIT เกิดขึ้นจริง รัฐบาลก็อาจจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายสรรพากร โดยสามารถทำได้หลายวิธี ทั้งการปรับเกณฑ์ตัวเลขสำหรับยื่นแบบ ภ.ง.ด. 91 ที่ปัจจุบันกำหนดให้ผู้มีรายได้ 120,000 บาทต่อปี ต้องยื่นแบบ
ซึ่งต้องมาทบทวนดูว่าจะมีการปรับเกณฑ์รายได้ให้ต่ำลงหรือไม่ หรือปัจจุบันเป็นการยื่นแบบแบบสมัครใจ ก็อาจจะต้องทำกลไกให้ทุกคนเข้าสู่ระบบให้ได้
อย่างไรก็ดี เมื่อศึกษา NIT แล้ว ก็ต้องพิจารณาว่าจะใช้หรือไม่ และถ้าใช้ก็ต้องมาดูว่ากลไกที่ทำขึ้นมา ไปทดแทนอะไรบ้าง หากทดแทนสวัสดิการได้หลายประเภท ซึ่งอาจจะต้องดูว่าต้องยกเลิกโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน
ส่วนกรณีที่ว่า มี NIT จะช่วยลดภาระงบประมาณด้านสวัสดิการได้หรือไม่นั้น นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกับเรื่องลดภาระ โดยรัฐบาลจะต้องมาดูตัวเลขที่เหมาะสม คือ ประชาชนสามารถอยู่ได้
ส่วนในระยะยาวก็ต้องดูว่าการช่วยเหลือสวัสดิการจะเป็นภาระงบประมาณแค่ไหน เนื่องจากปัจจุบันไทยก็เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ถ้ายังใช้กลไกรัฐบาลเติมงบประมาณจ่ายสวัสดิการผู้สูงอายุไปเรื่อยๆ นั้น ก็เป็นความเสี่ยงที่เงินจะไม่พอ
“เพราะฉะนั้น ต้องมีการปรับโครงสร้างทั้งหมด การดึงคนเข้าสู่ระบบภาษี ก็เป็นอีกหนึ่งอย่างที่เป็นประโยชน์ระยะยาว”