นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับการประชุมพิจารณาแนวทางการใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพ (ท่าเรือคลองเตย) ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ครั้งที่ 1/2567 เบื้องต้นที่ประชุมได้กำหนดให้รวบรวมข้อมูลปัจจุบันพร้อมกำหนดขอบเขตแนวทางการดำเนินงาน รวมทั้งการนำผลการศึกษาเดิมในปี 2562 มาทบทวนแนวทางการใช้ประโยชน์พื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ให้มีความคุ้มค่า
ทั้งนี้ตามแผนหลังจากกทท.ดำเนินการจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อศึกษาโครงการฯแล้ว จะรายงานต่อคณะกรรมการพิจารณาแนวทางฯภายในเดือนธ.ค.นี้ โดยใช้เวลาศึกษาแล้วเสร็จประมาณ 1 ปี คาดว่าจะได้ข้อสรุปและขอความเห็นชอบแนวทางและแผนการพัฒนาฯ ภายในเดือนพ.ย.69
นอกจากนี้ที่ประชุมได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง จำนวน 4 ชุด ประกอบด้วย 1.คณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางการใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพ (ท่าเรือคลองเตย) และจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติ โดยมี นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานอนุกรรมการ ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาแนวทางการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ดังกล่าวให้ครอบคลุมทุกมิติ พร้อมจัดทำแผนปฏิบัติการให้เป็นรูปธรรม ตลอดจนการรายงานผลเป็นระยะ
2.คณะอนุกรรมการพิจารณาพัฒนาศักยภาพพิ่นที่บริเวณชุมชนคลองเตย ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ในปัจจุบัน โดยมีสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานอนุกรรมการ ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจในการสำรวจ ตรวจสอบข้อเท็จจริง และจัดทำบัญชีผู้อาศัย และโรงเรือนที่อยู่ในพื้นที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ตลอดจนการรื้อย้ายผู้ได้รับผลกระทบที่อยู่ในพื้นที่ฯ
3.คณะอนุกรรมการจัดระเบียบด้านการจราจรและสิ่งแวดล้อมบริเวณโดยรอบท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) อย่างยั่งยืน โดยมีนายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นประธานอนุกรรมการ ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดมาตรการให้ข้อเสนอแนะและจัดทำแผนการบริหารการเดินทางภายในและบริเวณรอบท่าเรือกรุงเทพ
4.คณะอนุกรรมการด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนในท่าเรือกรุงเทพและการประชาสัมพันธ์ โดยมีนายกฤชนนท์ อัยยปัญญา โฆษกกระทรวงคมนาคม เป็นประธานอนุกรรมการ ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจในการสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้ได้รับผลกระทบและเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบมีส่วนร่วมในข้อคิดเห็น
นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ส่วนข้อเรียกร้องในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของชุมชนคลองเตยทั้ง 26 ชุมชนนั้น เบื้องต้นทางชุมชุนมีความเห็นให้กระทรวงคมนาคมและกทท.พิจารณาแนวทางที่อยู่อาศัยโดยแบ่งปันจำนวนที่ดินให้แก่คนในพื้นที่ชุมชนดังกล่าว ประมาณ 500 ไร่ จากเดิมกทท.มีพื้นที่รวม 2,353 ไร่ โดยปัจจุบันกทท.มีการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ท่าเรือคลองเตยประมาณ 270 ไร่ เบื้องต้นกระทรวงคมนาคมได้รับข้อร้องเรียนมาพิจารณาแล้ว
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การที่กระทรวงการคลังมีส่วนร่วมในการประชุมครั้งนี้ เนื่องจากพื้นที่บริเวรท่าเรือกรุงเทพ (ท่าเรือคลองเตย) เป็นพื้นที่ที่สามารถทำประโยชน์และมีศักยภาพ พบว่ามีพื้นที่ที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงการคลังบริเวณกรมศุลกากรและกรมธนารักษ์ จำนวน 1,000 ไร่ ซึ่งได้รับพื้นที่จากกทท. เพื่อมาใช้ประโยชน์ด้วย
“ยืนยันว่าการเข้ามีส่วนร่วมของกระทรวงการคลังไม่มีการแก้กฎหมาย แต่เป็นการปรับรูปแบบการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือคลองเตยในด้านการบริหารจัดการขนส่งสินค้านำเข้าและส่งออก เช่น ท่าเรือกึ่งอัตโนมัติ (Semi Automation) ,การเชื่อมต่อท่าเรือคลองเตยกับทางด่วนสายบางนา-อาจณรงค์ (S1)” นายจุลพันธ์ กล่าว
สำหรับรูปแบบการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ (ท่าเรือคลองเตย) ในครั้งนี้เป็นการพัฒนาท่าเรือท่องเที่ยว โดยปรับปรุงอาคารผู้โดยสารใหม่ ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้ตั้งเป้าหมายท่าเรือกรุงเทพ (ท่าเรือคลองเตย) เป็นเมืองใหม่ (New City)
ทั้งนี้โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพในการใช้พื้นที่ท่าเรือคลองเตยมีพื้นที่ 2,353 ไร่ มูลค่าการลงทุนประมาณ 100,000 ล้านบาท ของกทท. ประกอบด้วย พื้นที่ในเขตรั้วศุลกากร 943 ไร่ นอกเขตรั้วศุลกากร 149 ไร่
ที่ผ่านมาการท่าเรือฯ ได้มีการศึกษาแผนแม่บท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยเป็นการใช้พื้นที่ในเขตรั้วศุลกากร 490 ไร่ และนอกเขตรั้วศุลกากร 582 ไร่ ในการปรับรูปแบบการให้บริการที่ทันสมัย ประกอบด้วย การสร้างท่าเทียบเรือและลานกองเก็บตู้สินค้าแบบกึ่งอัตโนมัติรวมถึงการพัฒนาคลังสินค้าแนวสูง ซึ่งจะช่วยลดสัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศไทยต่อ GDP ลง 0.77 %แต่ยังคงสามารถรักษาระดับการให้บริการคงเดิมที่ประมาณ 1.4 ล้าน TEU ต่อปี
สำหรับพื้นที่เชิงพาณิชย์ รวม 1,281 ไร่ ประกอบด้วย โครงการมิกซ์ยูสพื้นที่สำนักงาน, ที่อยู่อาศัย ศูนย์การค้า และพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ อยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว, โครงการท่าเรือสำราญ เพื่อส่งเสริมและเชื่อมโยงกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวเสริมสร้าง ธุรกิจการท่องเที่ยวใหม่ ด้านการท่องเที่ยวสมัยใหม่ และสนับสนุนนโยบาย ซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล
นอกจากนี้โครงการฯ ดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมสตาร์ทอัพ ตั้งเขตการค้าปลอดภาษี ส่งเสริมการจับจ่ายของนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจต่างชาติ หอประชุม ศูนย์แสดงสินค้าที่ทันสมัยริมแม่นํ้าเจ้าพระยา ที่ถูกออกแบบทางด้านสถาปัตยกรรมจากนักออกแบบทั่วโลกในการรังสรรค์อัตลักษณ์ความเป็นไทยที่โดดเด่นเป็นที่จดจำในระดับโลก ศูนย์สุขภาพใจกลางเมืองที่ทันสมัยและครบวงจรเป็นต้น