เดินหน้าปั้นที่ดินท่าเรือคลองเตย 2.3 พันไร่ แสนล้าน หลัง โพลหนุนย้ายท่าเรือ

04 ส.ค. 2567 | 04:53 น.
อัพเดตล่าสุด :05 ส.ค. 2567 | 01:09 น.

"มนพร เจริญศรี" รมช.คมนาคม เดินหน้าปั้นที่ดินคลองเตย 2.3 พันไร่ มิกซ์ยูส แสนล้านของการท่าเรือ ตามนโยบาย เศรษฐา ทวีศิล นายกรัฐมนตรี หลัง โพล ระบุชาวบ้านหนุนย้ายท่าเรือกรุงเทพ(คลองเตย) เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี

 

ปัจจุบันการขยายตัวของเมืองเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ที่เห็นชัดบริเวณ เขตคลองเตย  ถนนพระราม4 สีลม สาทร เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับ ที่ดิน ท่าเรือกรุงเทพ(คลองเตย) เนื้อที่ 2.3พันไร่  ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.)

แผนพัฒนาท่าเรือคลองเตยหลังโพลระบุประชาชนหนุน

ที่ทำเลตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญ มีชุมชนขนาดใหญ่เกิดขึ้นรายรอบ  รัฐบาลมองว่าหากมีกิจกรรมขนถ่ายสินค้าในบริเวณดังกล่าวอาจก่อให้เกิดมลพิษ กระทบต่อสุขภาพของคนในชุมชน

ขณะเดียวกัน ที่ดินดังกล่าวมีศักยภาพสูง ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่จะยกระดับ  ให้เป็นเมืองมิกซ์ยูส  และการท่องเที่ยวทางน้ำ รองรับกลุ่มกำลังซื้อสูงทั้งไทยและต่างชาติ สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับประเทศ 

โดยมอบให้กทท.ศึกษาความเป็นไปได้พร้อมทั้ง ทบทวนแผนแม่บทเดิมและอัปเดตแผนพัฒนาใหม่ โดยให้แล้วเสร็จทั้งหมดในปี2578 พร้อมทั้งลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นประชาชนโดยรอบ  

 

 

 

 

 

ล่าสุด สำนักวิจัยมหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ เปิดเผยผลสำรวจเรื่องการย้ายท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) โดยสำรวจระหว่างวันที่ 22-30 ก.ค. 2567 จากประชาชนจำนวน 2,500 คน พบว่าประชาชนร้อยละ 70.7% เห็นด้วยต่อการย้ายท่าเรือกรุงเทพ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่า  ผลโพลที่ออกมาสอดคล้องกับสิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการถือเป็นเรื่องที่ดี การย้ายท่าเรือคลองเตยเป็นนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการให้เกิดขึ้นโดยเร็ว 

ทั้งนี้รัฐบาลต้องการนำพื้นที่ท่าเรือคลองเตย จำนวน 2.3 พันไร่ มาพัฒนาให้เกิดผลประโยชน์มากที่สุด ทั้งทำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว พื้นที่เชิงพาณิชย์ เป็นต้น โดยมั่นใจว่าหากดำเนินการจนสำเร็จ จะสามารถพลิกโฉม กทม. และประเทศไทย ให้เป็นที่นิยมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลคำนึงถึงผลกระทบในด้านอื่น จึงต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนคลองเตย ซึ่งจะมีการมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงไปทำความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง

สำหรับแผนพัฒนาท่าเรือคลองเตย นางมนพร  เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ก่อนหน้านี้ว่า แผนพัฒนาท่าเรือคลองเตย  นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการ มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม ร่วมกับกทท. กรุงเทพมหานคร (กทม.) เร่งศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของการย้ายท่าเรือคลองเตย ออกจากพื้นที่กทม.ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว พร้อมทั้งจัดทำแผนการพัฒนาพื้นที่บริเวณท่าเรือคลองเตย เพื่อใช้ประโยชน์ให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้นและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ  พร้อมทั้งตั้งคณะทำงานศึกษาโครงการการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพหรือท่าเรือคลองเตย (Smart City Port)

ขณะเดียวกันรัฐบาลยังให้ความสำคัญกับชุมชนในพื้นที่ โดยมีแผนจัดพื้นที่บางส่วนสำหรับเป็นพื้นที่พักอาศัยเพื่อชุมชนในแนวสูง และศูนย์ฝึกอาชีพ เพื่อช่วยเหลือชาวชุมชนคลองเตย ซึ่งเป็นตลาดแรงงานสำคัญของเมืองหลวง เพื่อพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิต สร้างงาน สร้างรายได้ ลดความเหลื่อมลํ้า ลดปัญหาชุมชนแออัด ส่งเสริมสนับสนุนกลุ่มเปราะบางตามนโยบายของรัฐบาล ปัจจุบันพบว่ามีชุมชนโดยรอบเขตท่าเรือ จำนวน 26 ชุมชน จำนวน 12,545 ครัวเรือน และชุมชนใต้ทางด่วน จำนวน 455 ครัวเรือน เบื้องต้นทางการท่าเรือฯได้ ประมาณการวงเงินอยู่ที่ 9,856 ล้านบาท บนพื้นที่ 58 ไร่

การก่อสร้างโครงการลงทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ในชุมชนคลองเตย เป็นอาคารพักอาศัยสูงรวมประมาณ 6,048 ยูนิต พร้อมด้วย อาคารส่วนกลางเพื่อรองรับอาคารสำนักงาน หน่วยงานราชการ สถานบริการสาธารณสุข องค์กรหรือมูลนิธิภายในชุมชน อาคารที่จอดรถ พื้นที่ตลาด พร้อมทั้งพื้นที่สำหรับโรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก และพื้นที่สีเขียวเพื่ออำนวยความสะดวกในแก่ประชาชนภายในโครงการ ทั้งนี้ตามแผนจะดำเนินการแล้วเสร็จทุกโครงการในปี 2578

 โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพในการใช้พื้นที่ท่าเรือคลองเตยมีพื้นที่ 2,353 ไร่ มูลค่าการลงทุนประมาณ 100,000 ล้านบาท ของกทท. ประกอบด้วย พื้นที่ในเขตรั้วศุลกากร 943 ไร่ นอกเขตรั้วศุลกากร 1,410 ไร่ ซึ่งการท่าเรือฯ ได้มีการศึกษาแผนแม่บท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยเป็นการใช้พื้นที่ในเขตรั้วศุลกากร 490 ไร่ และนอกเขตรั้วศุลกากร 582 ไร่ ในการปรับรูปแบบการให้บริการที่ทันสมัย ประกอบด้วย การสร้างท่าเทียบเรือและลานกองเก็บตู้สินค้าแบบกึ่งอัตโนมัติรวมถึงการพัฒนาคลังสินค้าแนวสูง ซึ่งจะช่วยลดสัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศไทยต่อ GDP ลง 0.77 %แต่ยังคงสามารถรักษาระดับการให้บริการคงเดิมที่ประมาณ 1.4 ล้าน TEU ต่อปี

สำหรับพื้นที่เชิงพาณิชย์ รวม 1,281 ไร่ ประกอบด้วย โครงการมิกซ์ยูสพื้นที่สำนักงาน, ที่อยู่อาศัย ศูนย์การค้า และพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ อยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว, โครงการท่าเรือสำราญ เพื่อส่งเสริมและเชื่อมโยงกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวเสริมสร้าง ธุรกิจการท่องเที่ยวใหม่ ด้านการท่องเที่ยวสมัยใหม่ และสนับสนุนนโยบาย ซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล ส่งเสริมสตาร์ทอัพ ตั้งเขตการค้าปลอดภาษี ส่งเสริมการจับจ่ายของนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจต่างชาติ หอประชุม ศูนย์แสดงสินค้าที่ทันสมัยริมแม่นํ้าเจ้าพระยา ที่ถูกออกแบบทางด้านสถาปัตยกรรมจากนักออกแบบทั่วโลกในการรังสรรค์อัตลักษณ์ความเป็นไทยที่โดดเด่นเป็นที่จดจำในระดับโลก ศูนย์สุขภาพใจกลางเมืองที่ทันสมัยและครบวงจรเป็นต้น