ด่วน รัฐบาล เคาะ EIA 5 โครงการยักษ์ สร้างด่วนสองชั้น 3.4 หมื่นล้าน

16 ต.ค. 2567 | 10:35 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ต.ค. 2567 | 10:41 น.

ด่วน ที่ประชุมบอร์ดสิ่งแวดล้อมฯ เห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA รวม 5 โครงการใหญ่ โดยเฉพาะโครงการทางด่วนยกระดับชั้นที่ 2 (งามวงศ์วาน - พระราม 9) มูลค่ากว่า 3.4 หมื่นล้านบาท

วันนี้ (16 ตุลาคม 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยที่ประชุมเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA รวม 5 โครงการลงทุนที่สำคัญ ดังนี้

  1. โครงการระบบโครงข่ายไฟฟ้า เพื่อรองรับโครงการไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป.ลาว 
  2. โครงการอ่างเก็บน้ำแม่สกึ๋น 2 อำเภอสอง จังหวัดแพร่ 
  3. โครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 (งามวงศ์วาน - พระราม 9)
  4. โครงการทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนและชนิดหินดินดานเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย (แก่งคอย) จำกัด 
  5. โครงการทางหลวงหมายเลข 118 ตอน บ.แม่เจดีย์ - อ.แม่สรวย

สำหรับโครงการที่น่าสนใจและได้รับการเห็นชอบในการประชุมบอร์ดสิ่งแวดล้อมครั้งนี้ นั่นคือ โครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 (งามวงศ์วาน - พระราม 9) ซึ่งเป็นโครงการลงทุนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ระยะทาง 17 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุน 34,028 ล้านบาท

 

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.)

 

ทั้งนี้ถือเป็นโครงการเพื่อแก้ปัญหาจราจรติดขัดในเมือง เนื่องจากปัจจุบันทางต่างระดับพญาไท ประสบปัญหาการจราจรอย่างหนักเข้าขั้นวิกฤตทั้งในและนอกช่วงเวลาเร่งด่วน ส่งผลเส้นทางดังกล่าวต้องรับภาระด้านการจราจรทั้งหมดจากความต้องการเดินทางในแนวตะวันออก-ตะวันตก และแนวเหนือ-ใต้บนโครงข่ายทางพิเศษในพื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นในและชั้นกลาง

โครงการนี้มีแนวสายทางเหนือ-ตะวันออก (ประชาชื่น-พญาไท-อโศก) มีจุดเริ่มต้นบริเวณทางแยกต่างระดับงามวงศ์วาน เป็นทางพิเศษยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร โดยมี 2 ช่องจราจรต่อทิศทาง ซ้อนทับไปตามแนวเส้นทางของทางพิเศษศรีรัช

ก่อนมุ่งทิศใต้เลี้ยวซ้ายไปทางทิศตะวันออก บริเวณทางแยกต่างระดับพญาไท ผ่านทางแยกต่างระดับมักกะสัน และมีจุดสิ้นสุดโครงการที่บริเวณหลังด่านเก็บค่าผ่านทางอโศก 4 ของทางพิเศษศรีรัช รวมระยะทางประมาณ 17 กม.

 

โครงการนี้มีแนวสายทางเหนือ-ตะวันออก (ประชาชื่น-พญาไท-อโศก) มีจุดเริ่มต้นบริเวณทางแยกต่างระดับงามวงศ์วาน เป็นทางพิเศษยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร โดยมี 2 ช่องจราจรต่อทิศทาง ซ้อนทับไปตามแนวเส้นทางของทางพิเศษศรีรัช  ก่อนมุ่งทิศใต้เลี้ยวซ้ายไปทางทิศตะวันออก บริเวณทางแยกต่างระดับพญาไท ผ่านทางแยกต่างระดับมักกะสัน และมีจุดสิ้นสุดโครงการที่บริเวณหลังด่านเก็บค่าผ่านทางอโศก 4 ของทางพิเศษศรีรัช รวมระยะทางประมาณ 17 กม.

 

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้พิจารณาและเห็นชอบในประเด็นสำคัญอื่น ๆ ดังนี้

1. เห็นชอบหลักการสัญญารับเงินอุดหนุน (Grant Agreement) ภายใต้โครงการ Thai – German Cooperation on Energy, Mobility, and Climate (TGC EMC) จากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน 234 ล้านบาท 

โดยเป็นเงินอุดหนุนเข้ากองทุนสิ่งแวดล้อม 150 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Mitigation) ให้กับภาคธุรกิจโรงแรมที่พัก ธุรกิจของวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อม และอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า และการปรับตัวและลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation) ให้แล้วเสร็จภายในปี 2570

 

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.)

 

2. เห็นชอบโครงการพัฒนาต้นแบบชุมชนคาร์บอนต่ำ เพื่อสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกในระดับพื้นที่ด้วยภาคประชาชน เป็นต้นแบบขยายผลและสร้างการรับรู้อย่างครอบคลุมทั่วประเทศมุ่งเป้าการมีส่วนรวมเครือข่ายภาคประชาชนลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ

3. เห็นชอบมาตรการควบคุมและกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรมที่รับดำเนินการของเสียอันตรายและโรงงานอุตสาหกรรมหรือสถานประกอบกิจการที่มีความเสี่ยงที่จะมีผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคประชาสังคม จากข่าวการรั่วไหลของสารแคดเมียม เมื่อช่วงเมษายน 2567 

4. เห็นชอบมาตรการรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568 ประกอบด้วย มาตรการจัดการไฟในพื้นที่เกษตร การควบคุมฝุ่นละอองในเขตเมือง การจัดการหมอกควันข้ามแดน รวมถึงกลไกในการบริหารจัดการในการตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับภาค และศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ระดับจังหวัด