ดร.สามารถ  กังขา รัฐบาล ซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืน แต่ขยายสัมปทานทางด่วน

23 ต.ค. 2567 | 04:53 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ต.ค. 2567 | 05:02 น.

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ กังขา รัฐบาล ซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืน ลุยรถไฟฟ้า20บาทตลอดสาย แต่ขยายสัมปทานทางด่วน แลก ก่อสร้างทางด่วนชั้นที่2

 

เมื่อวันที่ 23 ต.ค.67 ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวโดยระบุว่า รัฐจะซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืนจากเอกชน เพื่อลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าทุกสายทุกสีเหลือ 20 บาทตลอดสาย ถือว่าเป็นเรื่องดีเพราะจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของพี่น้องประชาชน

ซื้อสัมปทานรถไฟฟ้า แต่ขยายสัมปทานทางด่วน

ขณะเดียวกันรัฐบอกว่าต้องการทำให้ค่าผ่านทางด่วนถูกลงด้วย ก็ถือว่าเป็นเรื่องดีเช่นเดียวกัน แต่กลับจะขยายสัมปทานทางด่วนศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) ให้เอกชน ซึ่งจะไม่สามารถทำให้ค่าผ่านทางด่วนทั้งโครงข่ายถูกลงได้ ในทางกลับกัน การทำให้สัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงโดยเร็ว จะทำให้ค่าผ่านทางถูกลง

อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ มีข่าวว่าในเดือนธันวาคม 2567 กระทรวงคมนาคมเตรียมจะลงนามสัญญาขยายสัมปทานทางด่วนศรีรัชครั้งที่ 2 ให้เอกชนผู้รับสัมปทานออกไปอีก 22 ปี 5 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2578 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2601 เพื่อแลกกับการให้เอกชนลงทุนก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck) ช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 ระยะทาง 17 กิโลเมตร มูลค่า 34,800 ล้านบาท

ทั้งนี้ รัฐให้สัมปทานทางด่วนศรีรัชแก่เอกชนเป็นระยะเวลาดังนี้

  •  เริ่มต้นให้สัมปทาน 30 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2533 จนถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563
  • ขยายสัมปทานครั้งที่ 1 ออกไป 15 ปี 8 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2578
  • กำลังจะขยายสัมปทานครั้งที่ 2 ออกไปอีก 22 ปี 5 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2578จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2601
  • รวมระยะเวลาสัมปทานทั้งหมดถึง 68 ปี 1 เดือน 

หลังจากขยายสัมปทานครั้งที่ 2 ในเดือนมกราคม 2568 รัฐจะเริ่มลดค่าผ่านทางเฉพาะช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 ที่ปัจจุบันสำหรับรถ 4 ล้อ มีอัตราสูงสุด 90 บาท จะปรับลดลงเหลือสูงสุด 50 บาท เป็นที่น่าสังเกตว่าการลดค่าผ่านทางดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับการขยายสัมปทานให้เอกชน แต่เป็นผลจากการที่รัฐยอมเฉือนรายได้ของตนเองลงมา ดังนั้น ถึงแม้จะไม่ขยายสัมปทานให้เอกชนก็ตาม หากรัฐยอมลดส่วนแบ่งรายได้จากค่าผ่านทางลงก็จะสามารถทำให้ค่าผ่านทางถูกลงได้

จึงมีความเห็นว่า หากกระทรวงคมนาคมเชื่อว่า Double Deck จะช่วยแก้ปัญหารถติดบนทางด่วนได้จริง กระทรวงคมนาคมก็ควรเป็นผู้ลงทุนก่อสร้าง Double Deck เอง ไม่ควรมอบให้เอกชนก่อสร้าง ซึ่งจะทำให้รัฐไม่ต้องขยายสัมปทานทางด่วนศรีรัชให้เอกชนอีก รออีกเพียง 11 ปีเท่านั้น ทางด่วนศรีรัชก็จะกลับมาเป็นของรัฐ ถึงเวลานั้น รัฐก็จะสามารถลดค่าผ่านทางด่วนทั้งโครงข่ายให้ต่ำลงได้

หากยังจำกันได้ การเตรียมขยายสัมปทานทางด่วนศรีรัชให้เอกชน เป็นเหตุให้สำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หวั่นว่ารัฐจะเสียผลประโยชน์ จึงได้มีหนังสือลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ถึงผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)

มีข้อความตอนหนึ่งว่า “สำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต พิจารณาแล้วเห็นว่า เงื่อนไขในสัญญาบางประการตามที่สื่อมวลชนได้รายงานมีความเสี่ยงที่อาจทำให้รัฐเสียผลประโยชน์ และอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนคู่สัญญา” จึงขอให้ กทพ.ชี้แจงข้อเท็จจริงภายในวันที่ 7 สิงหาคม 2567

แต่จนถึงวันนี้ ไม่มีข่าวว่า กทพ.ได้ชี้แจงข้อห่วงใยของ ป.ป.ช.จนสิ้นสงสัยแล้วหรือยัง ? หรือขอเลื่อนการชี้แจงออกไปเรื่อยๆ ? ตามที่เคยมีข่าวว่า กทพ.มีหนังสือถึง ป.ป.ช. ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2567 ขอเลื่อนการชี้แจงออกไป 30 วัน ถึงวันนี้ก็เลย 30 วันแล้ว อาจเป็นไปได้ว่า กทพ.ได้มีหนังสือถึง ป.ป.ช. ขอเลื่อนการชี้แจงออกไปอีก ?

ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง การที่กระทรวงคมนาคมเตรียมที่จะลงนามสัญญาขยายสัมปทานทางด่วนศรีรัชครั้งที่ 2 ให้เอกชนอีก 22 ปี 5 เดือน ในเดือนธันวาคม 2567 กระทรวงคมนาคมมั่นใจได้อย่างไรว่า ก่อนถึงวันลงนามสัญญา กทพ.จะสามารถชี้แจงข้อกังขาให้ ป.ป.ช.ได้จนเป็นที่พอใจของ ป.ป.ช. ?