รฟม. เผยผลสำเร็จ 1 ปี นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ดันยอดผู้โดยสารพุ่ง

23 ต.ค. 2567 | 10:02 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ต.ค. 2567 | 00:41 น.

รฟม. เผยนโยบายรถไฟฟ้าค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท ส่งผลดีเกินคาด ยอดผู้โดยสาร MRT สายสีม่วงเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 17.7% และผู้ใช้บริการอาคารจอดแล้วจรเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

นายวิทยา พันธุ์มงคล รักษาการแทนผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า นโยบายรถไฟฟ้าค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2566 ได้ส่งผลดีอย่างชัดเจนต่อจำนวนผู้โดยสาร MRT

วิทยา พันธุ์มงคล

โดยเฉพาะสายสีม่วงที่มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยกว่า 66,000 คนต่อเที่ยวต่อวัน และเพิ่มขึ้นถึง 17.7% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ และยอดผู้โดยสาร MRT สายสีน้ำเงินก็เพิ่มขึ้น 11.92% หรือกว่า 420,000 คนต่อเที่ยวต่อวัน โดยสถานีหลักอย่างสุขุมวิทและสีลมมีการเพิ่มขึ้นที่ 9.11% และ 9.8% ตามลำดับ

นอกจากนี้ อาคารจอดแล้วจรบริเวณแต่ละสถานีก็มีปริมาณผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น เช่น สถานีสามแยกบางใหญ่เพิ่มขึ้น 29% อาคารจอดแล้วจรสถานีบางรักน้อยท่าอิฐ เพิ่มขึ้น 23๔ และอาคารจอดแล้วจรสถานีคลองบางไผ่ เพิ่มขึ้น 13% เป็นต้น

โดยสถานีคลองบางไผ่นอกจากจะมีอาคารจอดแล้วจรให้บริการแล้วนั้น ยังถูกพัฒนาให้เป็นศูนย์คมนาคมขนส่งด้านตะวันตก (คลองบางไผ่) ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม

โดยเปิดให้บริการจุดจอดรถรับ-ส่ง รถโดยสารประจำทางของ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และบริษัท สมาร์ทบัส จำกัด เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างระบบขนส่งสาธารณะทางบกและทางรางแบบไร้รอยต่อ (Seamless Transport)

สะท้อนให้เห็นว่านโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายช่วยเพิ่มปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงแล้ว ยังสนับสนุนให้เกิดการใช้รถไฟฟ้าในภาพรวมของทั้งโครงข่าย ลดการใช้รถส่วนบุคคลเพื่อลดปัญหาการจราจรและมลพิษทางอากาศ ยังช่วยกระตุ้นการพัฒนาพื้นที่รอบสถานี

และเพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายดังกล่าว รวมถึงกระตุ้นให้เกิดการใช้รถไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น รฟม. ยังได้จัดโครงการ PAPA Care (Priority Accessible Purple Line Area) เพื่อสนับสนุนให้ผู้ใช้บริการเอื้อเฟื้อที่นั่งให้กับกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือ เช่น ผู้พิการ ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ เด็ก

รฟม. เผยผลสำเร็จ 1 ปี นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ดันยอดผู้โดยสารพุ่ง

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) พัฒนาบัตรโดยสารชนิด EMV Contactless ที่ที่อำนวยความสะดวกในการเปลี่ยนถ่ายระบบที่ครอบคลุมรถไฟฟ้าในความรับผิดชอบของ รฟม. ได้ทุกเส้นทาง

อีกทั้งยังสามารถเติมเงิน ตรวจสอบมูลค่าคงเหลือ และข้อมูลการเดินทางย้อนหลัง ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังได้ และสามารถใช้โดยสารระบบขนส่งอื่นที่รองรับการชำระด้วยบัตร EMV Contactless เช่น รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง และรถโดยสารประจำทาง ขสมก. เป็นต้น เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจแก่ผู้ใช้บริการร่วมด้วย