แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในวันนี้ (29 ต.ค.) ที่กระทรวงการคลัง เวลาประมาณ 13.30 น. นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้นัดนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทีมผู้บริหารจากกระทรวงการคลัง และธปท.เข้าหารือถึงการกำหนดกรอบเป้าหมายการบริหารอัตราเงินเฟ้อในปี 2568
สำหรับการหารือถึงกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อดังกล่าว จะมีขึ้นในทุกๆ ปลายปี เพื่อที่จะเป็นแนวทางให้ธปท. โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) นำไปบริหารนโยบายการเงินให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายกำหนด และเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ
“คาดว่ากระทรวงการคลังจะเสนอตัวเลขกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ขยับเพิ่มขึ้นมาประมาณ 0.5% จากปี 2567 ที่อยู่ในระดับ 1-3% เป็น 1.5-3.5% โดยที่ระยะห่างยังอยู่เท่าเดิมที่ 2%”
อย่างไรก็ดี เมื่อกระทรวงการคลังเสนอขยับกรอบเงินเฟ้อในระดับดังกล่าวแล้ว ทางฝั่งธปท. จะนำข้อเสนอดังกล่าวกลับไปพิจารณา และนำกลับมาหารือร่วมกันอีกครั้งก่อนที่จะได้ข้อสรุปเพื่อเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และประกาศใช้ในลำดับถัดไป
ทั้งนี้ การเสนอขยับกรอบเงินเฟ้อปีหน้าเป็น 1.5-3.5% ก็เพื่อให้ธปท. มีช่องปรับลดดอกเบี้ยนโยบายได้มากขึ้น โดยระยะห่างการบริหารกรอบยังเท่าเดิมที่ 2% ซึ่งแนวคิดของกระทรวงการคลังนั้น ต้องการเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท.ลงมาให้สอดคล้องกับการปรับลดของอัตราดอกเบี้ยเฟดที่ 0.50%
อย่างไรก็ตาม ธปท.อาจมองว่าเป็นการปรับลดที่แรงเกินไป แต่อย่างน้อยควรปรับลดลง 0.25% ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ที่เคยกล่าวว่า มีผลช้ากว่าการใช้นโยบายทางการคลังนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะเมื่อมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง จะทำให้ลูกหนี้สินเชื่อของสถาบันการเงินที่มีกว่า 84 ล้านบัญชี มีภาระการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ที่ลดลงทันที
ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ต.ค.67 ที่ประชุมมีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 2.50% เป็น 2.25% ต่อปี โดยให้มีผลทันที เพื่อช่วยบรรเทาภาระหนี้ครัวเรือนและสอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจ