จากกรณีที่ "นักวิชาการและกลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม" จำนวน 227 คน ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567 แสดงความห่วงใยต่อการครอบงำธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ แบงก์ชาติ โดยกลุ่มการเมือง เพื่อผลประโยชน์ระยะสั้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพและความน่าเชื่อถือของระบบเศรษฐกิจในระยะยาว
แถลงการณ์ดังกล่าวชี้ว่า ในวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้ จะมีการประชุมเพื่อคัดเลือกประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 2 ท่านในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมีกระแสข่าวว่ารัฐบาลได้เสนอชื่อบุคคลใกล้ชิดฝ่ายการเมืองเข้ามาในตำแหน่งนี้ ทำให้กลุ่มนักวิชาการกังวลว่าการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอาจถูกครอบงำโดยฝ่ายการเมืองที่เน้นผลประโยชน์ระยะสั้น
กลุ่มนักวิชาการได้เรียกร้องให้คณะกรรมการคัดเลือกพิจารณาตำแหน่งด้วยความโปร่งใสและมีธรรมาภิบาล โดยปราศจากแรงกดดันทางการเมือง เพื่อรักษาเสถียรภาพและความน่าเชื่อถือของธนาคารแห่งประเทศไทยให้ดำรงอยู่ในฐานะองค์กรอิสระ รวมถึงเชิญชวนภาคส่วนอื่นในสังคมร่วมลงนามแสดงจุดยืนเพื่อสนับสนุนความเป็นอิสระของ ธปท.
ฐานเศรษฐกิจ ได้นำรายชื่อของ 227 รายชื่อนักวิชาการดังกล่าว มาเรียบเรียงและจัดกลุ่ม พบว่าแบ่งได้เป็นกลุ่ม อดีตผู้ว่า ธปท. กลุ่มของคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ จุฬา เกษตรศาสตร์ ที่มีทั้งอดีตคณบดี อาจารย์ รวมทั้งลงโดยไม่ระบุหน่วยงานสังกัด อาทิ ดร.สมชัย จิตสุชน ที่ระบุว่าลงชื่อในนามส่วนตัว
"กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคมขอเรียกร้องต่อคณะกรรมการคัดเลือกที่จะพิจารณาในวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้ ให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม โปร่งใสและมีธรรมาภิบาล โดยไม่ยอมรับแรงกดดันทางการเมือง เพื่อร่วมรักษาสถาบันที่สำคัญคือธนาคารแห่งประเทศไทยที่บุคคลสำคัญในอดีตได้ร่วมกันพัฒนามาอย่างดี และเชิญชวนภาคส่วนอื่นในสังคมร่วมแสดงจุดยืน (โดยการร่วมลงนามข้างท้าย) เพื่อคงไว้ซึ่งความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทยให้หลุดพ้นจากผลประโยชน์ระยะสั้นทางการเมือง และธำรงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือของนานาอารยประเทศ"