จากกรณีการจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งจัดรับฟังความคิดเห็นและอยู่ระหว่างการประกาศคัดค้าน แต่มีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการดังกล่าว ยังขาดการรับรู้และมาส่วนร่วมในการดำเนินการอย่างแท็จจริง
เนื่องในโอกาส วันผังเมืองโลก เครือข่ายผู้บริโภค ร่วมกับ สภาองค์กรของผู้บริโภค หรือสภาผู้บริโภคได้ติดตามกระบวนการจัดทำร่างดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และพบว่ามีหลายกระบวนการที่อาจจะมีปัญหาละเมิดสิทธิของชุมชน และขัดต่อการดำเนินการตามกฎหมาย จึงจัดทำ “รายงานข้อเท็จจริงการจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4)” โดยพบปัญหาดังนี้
1.ปัญหากระบวนการรับฟังความเห็น ปรึกษาหารือ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) มีการประชาสัมพันธ์อย่างไม่ทั่วถึง กว้างขวาง เพียงพอ และไม่มีข้อมูลความละเอียด ว่า “ผลกระทบ” และแนวทางเยียยา ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน ที่เดือดร้อน เสียหายจากผังเมืองดังกล่าวซึ่งเป็นสาระเงื่อนไขสำคัญที่ถูกระบุไว้อย่างชัดเจนใน มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ.2562ที่ต้องชี้แจงรายละเอียด กลกระทบและมาตรการเยียวยากับชุมชน
2.การจัดกระบวนการรับฟังความเห็นอย่างไม่เท่าเทียม เนื่องจากมีการจัดรับฟังความคิดเห็น ผู้ทรงคุณวุฒิ หน่วยงานราชการองค์การรัฐวิสาหกิจและองค์กรวิชาชีพ ทั้งหมด 3 วันเต็ม เมื่อวันที่ 8 , 13 และ 15 มิถุนายน 2566 แต่ประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน วันที่ 25 กรกฎาคม 2566 โดยจัดประชุมเพียง 1 วัน
3. ประชาชนส่วนใหญ่ ไม่เคยทราบเรื่องการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) มาก่อน และไม่สามารถเข้าใจในเนื้อหาได้เลย โดยเฉพาะเนื้อหาผลกระทบเรื่องการขยายถนน การตัดถนนใหม่ 148 เส้นและผังแสดงผังน้ำ ที่มีการขยายคลองระบายน้ำ การขุดคลองระบายน้ำ จำนวน 200 คลองรวมไปถึงการวางแนวอุโมงค์ระบายน้ำยักษ์ ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลถึงเรื่องการเวนคืนที่ดินจากประชาชน
4. การชี้แจงเนื้อหาการจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ยังไม่มีการสะท้อนถึง “ผลกระทบ” ที่อาจเกิดขึ้นต่อประชาชนในทุกมิติ กล่าวถึงเพียงการพัฒนาด้านต่าง ๆ เช่น การพัฒนาการคมนาคม การพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดิน แต่มุ่งให้ความสำคัญต่อผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ การลงทุนของกลุ่มคนบางกลุ่ม มากกว่าการคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของชุมชน
5. หน่วยงานผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ มิได้มีการลงพื้นที่เพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชน ก่อนที่จะมีการจัดทำร่างผังเมืองรวมฯ ทำให้ประชาชนไม่สามารถรับรู้และเข้าใจถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การเวนคืนที่ดิน การเปลี่ยนสีของผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน
6 การดำเนินการ ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 37 วรรค 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 บัญญัติว่า กฎหมายเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ต้องระบุวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนและกำหนดระยะเวลาการเข้าใช้อสังหาริมทรัพย์ให้ชัดแจ้ง
แต่การทำผังเมือรวมที่ระบุแนวการขยายถนน หรือการตัดถนนใหม่ กว่า 148 สาย ระยะทางรวมกว่า 600 กิโลเมตร , แผนผังแสดงผังน้ำ ที่มีการวางแนวการขยายคลอง ตัดคลอง หรือทำอุโมงค์ระบายน้ำใหม่ กว่า 200 สาย ที่ส่งผลไปถึงเรื่องการเวนคืนที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ แต่ไม่มีการระบุระยะเวลา และงบประมาณที่ชัดแจ้ง
7. ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 41 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่บัญญัติว่า บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานของรัฐ
แต่พบว่ามีประชาชนเพียง 21,776 คน เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น จากประชากรในกรุงเทพมหานครทั้งหมด 5,471,588 คน หรือคิดเป็นเพียง ร้อยละ 0.4 ของประชากรในกรุงเทพมหานครทั้งหมด
8.ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 72(2) บัญญัติว่า รัฐต้องจัดให้มีการวางผังเมืองทุกระดับและบังคับการให้เป็นไปตามผังเมืองอย่างมีประสิทธิภาพรวมตลอดทั้งพัฒนาเมืองให้มีความเจริญโดยสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ แต่ประชาชนไม่ทราบถึงกระบวนการต่าง ๆ มากถึง ร้อยละ 95
9.ขัดต่อประกาศคณะกรรมการผังเมือง เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการรับฟังความคิดเห็น การปรึกษาหารือ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการวางและจัดทำผังเมืองรวม พ.ศ.2562 กำหนด ไว้ทั้งหมด 22 ขั้นตอน
แต่มีการประชุมรับฟังความคิดเห็น การปรึกษาหารือ และการมีส่วนร่วมของประชาชนเหลือ 18 ขั้นตอน โดยการเปลี่ยนแปลงขั้นตอนการดำเนินงานโดยไม่มีการประชาสัมพันธ์ แจ้งให้ประชาชนรับทราบจึงถือเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชน
ทั้งนี้ที่ผ่านมาสภาองค์กรของผู้บริโภค และเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจึงได้รวบรวมรายชื่อผู้ได้รับผลกระทบจำนวน 493 คนเสนอต่อกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอให้ใช้อำนาจตามมาตรา 26 (1) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2560 ทำการตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานและสิทธิมนุษยชน เพื่อให้ทบทวนการจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) ที่อาจส่งผลกระทบต่อสิทธิของประชาชนต่อไป
นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากชุมชนชาวกรุงเทพมหานครที่ได้รับผลกระทบจากการจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครโดยได้รวบรวมรายชื่อกว่า 493 รายชื่อมายื่นต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อให้ตรวจสอบกระบวนการจัดทำ เนื่องจากเราพบว่ากรุงเทพมหานครดำเนินการละเมิดสิทธิของชุมชน
โดยขอให้ตรวจสอบการดำเนินการว่าละเมิดสิทธิของประชาชน พร้อมให้ทบทวนการจัดทำร่างผังเมืองดังกล่าวใหม่ โดยขอให้ใช้อำนาจตามมาตรา 26 (1) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2560 ทำการตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานและสิทธิมนุษยชน เพื่อให้ทบทวนการจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) ที่อาจส่งผลกระทบต่อสิทธิของประชาชน
“เราพบว่ากรุงเทพมหานครจัดทำผังเมืองรวมฯละเมิดสิทธิของชุมชนในหลายประเด็น อาทิ กฎหมายกำหนดให้มีการรับฟังความคิดเห็นก่อนที่จะมีการจัดทำร่างผังเมืองรวมฯ แต่ กทม.ไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าว จึงขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย ที่ต้องการให้รับฟังปัญหาก่อนว่า ประชาชนมีปัญหาอะไรกับการใช้ผังเมือเดิมหรือไม่
ทั้งในเรื่องน้ำท่วม การก่อสร้างอาคารสูงหรือไม่ หรือสภาพเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วง 10 -20 ปีที่ผ่าน เพื่อนำเอาความคิดเห็นและปัญหาความต้องการดังกล่าวมาออกแบบผังเมืองใหม่ให้ใช้ประโยชน์ร่วม
แต่ กทม.ติดกระดุมผิดเม็ดทำผิดขั้นตอน โดยนำร่างผังเมืองใหม่ฯมาอยู่ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ทำให้ประชาชนอยู่ในสภาพจำยอมไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ และ ไม่มีโอกาส หรือมีส่วนร่วมรับรู้ผลกระทบต่อชุมชน รวมถึงมาตรการอย่างไรในการเยียวยาแก้ไขอย่างไร จึงขอให้กรรมการสิทธิ์ตรวจสอบเพื่อให้ยุติการดำเนินการ” นายอิฐบูรณ์ ระบุ