นักเศรษฐศาสตร์ มองเศรษฐกิจโค้งสุดท้าย 2567 เข้าสู่สภาวะ “หวาดตึง”

11 พ.ย. 2567 | 07:38 น.
อัปเดตล่าสุด :11 พ.ย. 2567 | 07:53 น.

เปิดความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจโค้งสุดท้ายปี 2567 คาดอยู่ในสภาวะ “หวาดตึง” เช็คความหมายที่ซ่อนอยู่กับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2567 ว่า ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ มองว่า ตอนนี้โลกทั้งในมิติภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจอยู่ในสภาวะ “หวาดตึง”

สำหรับภาวะ “หวาดตึง” นั้น มองว่า มีสาเหตุสำคัญมาจาก 2 ปัจจัยด้วยกัน นั่นคือ

สำหรับ “หวาด” ที่มาจาก “หวาดระแวง” ไม่ไว้ใจกัน ต่างแบ่งฝักแบ่งฝ่ายและกำลังขยายอิทธิพลหาพวก จนถูกบังคับเลือกข้าง โดยเอาความกดดันด้านอื่นๆ เช่น การพึ่งพาทางเศรษฐกิจและการให้ความช่วยเหลือต่างๆ จนทำให้หลายประเทศต้องตกอยู่ในสถานะวางตัวลำบากอันเกิดมาจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในปัจจุบัน

ส่วน “ตึง” มาจาก “ตึงตัว” ทางเศรษฐกิจ จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศสำคัญเป็นไปในลักษณะ K-Shape ส่งผลทำให้อุปสงค์ขยายตัวอย่างจำกัด ในขณะที่การต่อสู้กับเงินเฟ้อในระดับสูงด้วยการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยส่งผลทางลบต่อการลงทุนและอัตราแลกเปลี่ยนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ส่วนกรณีของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา หลังจากโดนัล ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ นั้น นายยุทธศักดิ์ มองว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยหลายด้านประกอบกัน เช่น อัตราแลกเปลี่ยน ราคาทองคำ ราคาน้ำมัน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10ปี อัตราดอกเบี้ย รวมทั้งตลาดทุน จากนั้นจึงแยกสิ่งที่จะมีผลกระทบทางตรงและทางอ้อมกับไทย ออกให้ชัดเจน พร้อมพยากรณ์โอกาสที่จะเกิด แล้ววางมาตรการในการรับมือ 

“สิ่งที่ต้องจับตาตอนนี้ คือ ต้องดูปัจจัยต่าง ๆ ว่าจะมีผลกระทบกับไทยอย่างไร และให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงกับสิ่งที่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้น นอกจากนี้ คิดว่าทรัมป์น่าจะเล่นเกมเร็วในนโยบายที่หาเสียงไว้เพื่อสร้างความนิยมแต่เนิ่น ๆ” นายยุทธศักดิ์ ระบุ

ก่อนหน้านี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ คาดว่าจะขยายตัว 2.4% ต่อเนื่องจาก 2.5% ในปี 2566 ตามแรงส่งจากการฟื้นตัวในเกณฑ์ดีของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกของปี 

อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งหลังของปีเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะชะลอลงตามการชะลอตัวของอุปสงค์ภายในประเทศสะท้อนจากตลาดแรงงานที่อัตราการว่างงานปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยอัตราการว่างงานในเดือนกรกฎาคม 2567 อยู่ที่ 4.3% เพิ่มขึ้นจาก 4.1% ในเดือนก่อน สูงสุดในรอบ 33 เดือน 

สอดคล้องกับการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นเพียง 1.44 แสนตำแหน่ง เทียบกับ 1.79 แสนตำแหน่งในเดือนก่อนหน้า และเฉลี่ย 2.15 แสนตำแหน่งในช่วงปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 49.6 และ 55.0 จากระดับ 51.6 และ 55.3 ในเดือนก่อนหน้า 

ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 2.9% ต่ำสุดนับตั้งแต่มีนาคม 2564 ส่วนการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงเพื่อรอความชัดเจนจากนโยบายภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีในช่วงปลายปี 2567