“ศิริกัญญา” เตือนรัฐบาลระวังมรสุมการคลัง กับความจริงที่ควรบอก

14 พ.ย. 2567 | 09:38 น.
อัปเดตล่าสุด :14 พ.ย. 2567 | 09:41 น.

“ศิริกัญญา ตันสกุล” เตือนรัฐบาลระวังมรสุมทางการคลัง มากกว่าพายุเศรษฐกิจ หลังรองนายกฯเศรษฐกิจ บอกพื้นที่ทางการคลังเหลือน้อย ชี้มีความจริงสำคัญที่รัฐบาลควรต้องบอก

ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับฐานะการเงินการคลังของประเทศไทย กำลังจะเกิดปัญหา หลังจากนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ว่า เกี่ยวกับพื้นที่ทางการคลังในปัจจุบันเหลืออยู่อย่างจำกัดเพียง 3-4% หรือคิดเป็นเงินประมาณ 3 ล้านล้านบาท

ล่าสุด น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) โพสต์ข้อความผ่านโซเชียลมีเดีย Sirikanya Tansakun ระบุถึงกรณีดังกล่าวว่าได้ติดตามข่าวจากที่ รมว.คลังพูดเรื่อง "ฝ่าพายุเศรษฐกิจไทยด้วยนโยบายการคลัง" มีการพูดถึงว่า พื้นที่ทางการคลังเหลือน้อย และรัฐบาลต้องรัดเข็มขัดแล้วก็ดีใจ ในที่สุดก็มีรัฐมนตรีพูดเรื่องนี้เสียที ท่านพูดว่า

"วันนี้หนี้สาธารณะใกล้แตะ 12 ล้านล้านบาท ส่วนการเติบโตของจีดีพีปีนี้ คาดว่าจะได้ 2.7% ขณะที่เงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ 0.7-0.8% ดังนั้น คาดว่าปลายปีนี้หนี้สาธารณะจะอยู่ที่ 65-67% แสดงว่าเราจะเหลือพื้นที่ทางการคลัง 3-4% ส่งผลให้รัฐสามารถก่อหนี้ใหม่ได้อีก 3 ล้านล้านบาท เฉลี่ย 4 ปี รัฐบาลสามารถกู้ชดเชยขาดดุลได้ปีละไม่เกิน 7.5 แสนล้านบาท”
 

น.ส.ศิริกัญญา ยอมรับว่า สิ่งที่รองนายกฯไม่ได้พูดถึงก็คือ 2 ปีงบประมาณแรกของพรรคเพื่อไทย กู้ชดเชยขาดดุลไปแล้ว 1.66 ล้านล้าน เพราะส่วนนึงเอาไปใช้กับโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต เท่ากับ 2 ปีงบที่เหลือ กู้ชดเชยขาดดุลได้ปีละ 7 แสนล้านเท่านั้น ก็เป็นรัฐบาลเพื่อไทยเองที่ไม่ได้รัดเข็มขัด

“ถ้าแผนคุณพิชัยเป็นไปตามนี้ งบปี 69 ที่กำลังจะประกาศวงเงินก็น่าจะอยู่ราว 3.7 ล้านล้านบาท และลดลงจากงบปี 68 ยังไม่ต้องพูดพื้นที่ทางงบประมาณ หรือ budget space ที่ใช้ได้จริงน้อยลงไปอีกเพราะต้องไปชดใช้เงินคงคลัง 1.2 แสนล้าน ใช้หนี้ทั้งต้นทั้งดอกอีกราว 5 แสนล้าน งบข้าราชการทะลุ 1.4 ล้านล้านตามเงินเดือนข้าราชการที่ปรับขึ้นและสวัสดิการอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นทุกปี” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
 

น.ส.ศิริกัญญา ระบุด้วยว่า ในส่วนของวิธีเพิ่มพื้นที่ทางการคลัง ให้สัดส่วนหนี้สาธารณะลด และมีงบประมาณเพิ่ม รมว.คลังกลับพูดแต่เรื่องทำให้ GDP โต แต่ไม่แตะเรื่องประสิทธิภาพของงบประมาณ หรือการจัดเก็บภาษี ต่อให้ไม่คิดจะเก็บภาษีชนิดใหม่ ๆ แต่อย่างน้อยควรต้องมีวิสัยทัศน์ว่าจะแก้ปัญหาภาษีที่เก็บอยู่ในปัจจุบันแต่ผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามเป้า เช่น ภาษีรถยนต์ ภาษีบุหรี่ ภาษีน้ำมัน อย่างไร

อย่างไรก็ตามมองว่า การจัดทำงบประมาณใหม่ปี 69 ที่กำลังจะจัดทำกันปลายปีนี้ ได้ตรวจสอบความคุ้มค่าของโครงการที่ลงไปหรือไม่ มีแผนปรับลดงบในสาวนที่ไม่จำเป็นอย่างไร แต่อย่างน้อย ๆ ก็กลับสู่โลกแห่งความจริงว่าเป้าหมายเศรษฐกิจไทยโตได้แค่ 3-3.5% ไม่ใช่ 5% ต่อปีอย่างที่พรรคเพื่อไทยเคยหาเสียง แต่สัดส่วนหนี้ก็จะลดลงช้ามากด้วยเช่นกัน สุดท้ายดูเหมือนสิ่งที่ต้องฝ่าไป ไม่ใช่แค่พายุเศรษฐกิจ แต่เป็นมรสุมทางการคลังด้วยต่างหาก