"ทรัมป์" ขึ้นประธานาธิบดี หนุนส่ง ดูดทุนสหรัฐ-จีน ในอุตฯเป้าหมายเข้าไทย

18 พ.ย. 2567 | 08:36 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ธ.ค. 2567 | 09:49 น.

"โดนัลด์ ทรัมป์" ขึ้นประธานาธิบดี หนุนดูดทุนสหรัฐ-จีน ในอุตฯเป้าหมายเข้าไทย บีโอไอเผยทั้ง 2 ประเทศมีความจำเป็นต้องหาแหล่งผลิตนอกประเทศ รวมทั้งหาผู้ร่วมทุน ยันไทยมีความพร้อมทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ความเสถียรของไฟฟ้า

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงประเด็นผลกระทบต่อการลงทุนกรณีที่โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ว่า ในภาพรวมแม้ว่านโยบายทรัมป์ จะต้องการให้เกิดการลงทุนในประเทศภายใต้ America First และ Make America Great Again

แต่สหรัฐฯเองยังต้องพึ่งพา Supply chain จากอาเซียนและประเทศพันธมิตรอื่นๆ ในเรื่องวัตถุดิบ ส่วนประกอบและชิ้นส่วนต่างๆ  

ขณะที่นักลงทุนจีนก็ยังมีความจำเป็นต้องหาแหล่งผลิตนอกประเทศ รวมทั้งหาผู้ร่วมทุน ลดสัดส่วนความเป็นจีนให้น้อยลง เพื่อลดแรงกดดันและลดความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันการค้า 
 

อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้จึงเป็นโอกาสของไทย ในการดึงการลงทุนจากทั้งสหรัฐฯ และจีน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง แบตเตอรี่ในระดับเซลล์ ยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) ดาต้าเซ็นเตอร์และบริการคลาวด์มาตรฐานสูง

"โดนัลด์ ทรัมป์" ขึ้นประธานาธิบดี หนุนดูดทุนสหรัฐ-จีนอุตฯเป้าหมายข้าไทย

รวมทั้งกิจการที่สนับสนุนความเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ เช่น สำนักงานภูมิภาค (Regional Headquarters) ศูนย์จัดหาชิ้นส่วนและวัตถุดิบระหว่างประเทศ (IPO) และศูนย์กระจายสินค้าระหว่างประเทศ 

ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อม ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ ความเสถียรของไฟฟ้า ศักยภาพด้านพลังงานสะอาด บุคลากรที่มีคุณภาพ ซัพพลายเชนที่ครบวงจร รวมทั้งความเป็นกลางของประเทศไทย จึงทำให้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายที่สำคัญของนักลงทุน
 

อย่างไรก็ตาม จากนี้ไปยังต้องติดตามมาตรการของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด ว่ามาตรการกีดกันในรอบใหม่จะลงลึกแค่ไหน ดูแค่แหล่งผลิตสินค้า หรือจะพิจารณาถึงสัดส่วนการใช้วัตถุดิบ หรือดูไปถึงสัญชาติของบริษัท ซึ่งก็จะเป็นโอกาสของไทยในการผลักดันให้เกิดการร่วมทุนกับผู้ประกอบการไทย รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนและวัตถุดิบจากผู้ผลิตในประเทศด้วย 

นอกจากนี้ ยังต้องติดตามมาตรการเป็นรายอุตสาหกรรมด้วย เพราะแต่ละอุตสาหกรรมมีความเข้มข้นของมาตรการไม่เหมือนกัน สำคัญที่ไทยต้องพร้อมปรับตัวตามสถานการณ์ให้ได้เร็ว เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย