เช็คความพร้อม “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” ทะลวง 28 สถานี เปิดให้บริการเมื่อไร

04 พ.ย. 2567 | 23:00 น.

กางแผนคืบหน้า สร้าง “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” 28 สถานี เปิดให้บริการเมื่อไร-ระยะทางเท่าไร เช็ครายละเอียด พร้อมเตรียมแผนการเดินทาง

สำหรับการเดินหน้า “โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม” ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 35.9 กิโลเมตร (กม.) เป็นระบบรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ (Heavy Rail Transit System) มีประสิทธิภาพสูง

ขณะเดียวกันสามารถขนส่งผู้โดยสารได้มากกว่า 50,000 คน/ชั่วโมง/ทิศทาง บนระบบรางความกว้างมาตรฐาน (Standard Gauge) ขนาด 1,435 มิลลิเมตร ซึ่งได้ถูกออกแบบให้สามารถใช้ความเร็วได้สูงสุดประมาณ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ส่วนโครงสร้างงานโยธาของรถไฟฟ้าสายสีส้ม เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 27 กิโลเมตร และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 8.9 กิโลเมตร จำนวน 28 สถานี แบ่งเป็นสถานีใต้ดิน 21 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี 

ภายหลังกระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และเอกชนผู้รับสัมปทานหรือ  บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ในฐานะผู้ร่วมลงทุน ได้ลงนามสัญญาร่วมกัน โดยเริ่มงานเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 

ทั้งนี้ในปัจจุบัน บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้รับจ้างของผู้ร่วมลงทุน เตรียมแผนเริ่มปิดเบี่ยงจราจรรตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 เวลา 22.00 น. เป็นต้นไป เพื่อดำเนินงานรื้อย้ายสาธารณูปโภคเป็นลำดับแรก ในบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง 5 สถานีแรก ได้แก่ 

  • สถานีบางขุนนนท์ 
  • สถานีศิริราช 
  • สถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 
  • สถานียมราช 
  • สถานีประตูน้ำ

รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี ประกอบด้วย 

  • OR01 สถานีบางขุนนนท์ 
  • OR02 สถานีศิริราช 
  • OR03 สถานีสนามหลวง
  • OR04 สถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 
  • OR05 สถานีหลานหลวง
  • OR06 สถานียมราช 
  • OR07 สถานีราชเทวี
  • OR08 สถานีประตูน้ำ
  • OR09 สถานีราชปรารภ
  • OR10 สถานีดินแดง
  • OR11 สถานีประชาสงเคราะห์

แผนเปิดให้บริการ “รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก”
ปัจจุบันมีความก้าวหน้าการก่อสร้างงานโยธาในภาพรวม ณ สิ้นเดือน ต.ค.2567 ร้อยละ 1.90 โดยเป็นไปตามแผน ซึ่งจะใช้เวลาก่อสร้างงานโยธา 6 ปี และเปิดให้บริการปลายปี 2573 

แนวเส้นทาง “รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก” ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์

เริ่มต้นจากที่สถานีบางขุนนนท์ ของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีน้ำเงิน จากนั้นวิ่งผ่านสถานีรถไฟธนบุรี โรงพยาบาลศิริราช ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าสู่แนวถนนราชดำเนินกลาง ผ่านสนามหลวง เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายสีม่วงที่สถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 

จากนั้นผ่านสะพานผ่านฟ้าลีลาศเข้าสู่แนวถนนหลานหลวง ผ่านตลาดมหานาค เข้าสู่แนวถนนเพชรบุรีที่แยกยมราช ผ่านแยกอุรุพงษ์ แยกเพชรพระราม มาเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอสที่สถานีราชเทวี เลี้ยวซ้ายที่แยกประตูน้ำมุ่งหน้าไปทางทิศเหนือตามแนวถนนราชปรารภ 

ทั้งนี้เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่สถานีราชปรารภ เบี่ยงขวาที่แยกสามเหลี่ยมดินแดงเข้าสู่ถนนดินแดง

เลี้ยวซ้ายเข้าถนนวิภาวดี-รังสิต และเลี้ยวขวาลอดโรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี เข้าสู่ชุมชนประชาสงเคราะห์ และทะลุออกสู่ถนนรัชดาภิเษภ เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคลที่สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี ประกอบด้วย

  • OR13 สถานี ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย 
  • OR14 สถานี รฟม.
  • OR15 สถานี วัดพระราม 9
  • OR16  สถานี รามคำแหง 12
  • OR17 สถานี รามคำแหง
  • OR18 สถานี กกท.
  • OR19 สถานี รามคำแหง 34
  • OR20 สถานี แยกลำสาลี
  • OR21 สถานี ศรีบูรพา
  • OR22 สถานี คลองบ้านม้า
  • OR23 สถานี สัมมากร
  • OR24 สถานี น้อมเกล้า
  • OR25 สถานี ราษฎร์พัฒนา
  • OR26 สถานี มีนพัฒนา
  • OR27 สถานี เคหะรามคำแหง
  • OR28 สถานี มีนบุรี
  • OR29 สถานี แยกร่มเกล้า

แผนเปิดให้บริการ “รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก”

ตามแผนจะเปิดเดินรถได้ภายในปลายปี 2570 หรือต้นปี 2571ปัจจุบันผู้รับสัมปทานได้เตรียมนำระบบรถไฟฟ้า (M&E) เข้าไปดำเนินการ โดยในระหว่างนี้ได้ดำเนินการคัดเลือกจ้างบริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ ด้วย หากกระบวนการแล้วเสร็จจะสามารถเดินหน้าได้ทันที นอกจากนี้การจัดหารถสายตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี จะใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 2 ปี   

แนวเส้นทาง “รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก” ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี

เป็นระบบรถไฟฟ้าแบบใต้ดินและแบบยกระดับ มีระยะทางประมาณ 22.57 กิโลเมตร โดยแนวเส้นทางโครงการเริ่มต้นเป็นแบบใต้ดินจากสถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล (รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สายสีน้ำเงิน) 

นอกจากนี้ตัดเข้าพื้นที่ของ รฟม. วิ่งใต้แนวถนนพระราม 9 ลอดใต้ทางพิเศษสายฉลองรัฐ (ทางด่วนสายรามอินทรา – อาจณรงค์) เลี้ยวซ้ายที่สี่แยกพระราม 9 ไปตามแนวถนนรามคำแหง ผ่านสี่แยกลำสาลี แนวเส้นทางเปลี่ยนเป็นแบบยกระดับ บริเวณใกล้หมู่บ้านสัมมากร ข้ามแนวถนนกาญจนาภิเษก ไปสิ้นสุดบริเวณแยกถนนรามคำแหงตัดกับถนนสุวินทวงศ์