ระหว่างวันที่ 28-29 พฤศจิกายน 2567 คณะรัฐมนตรี (ครม. ) นางสาวแพทองธาร ชินวิตร ลงพื้นที่ สัญจรครั้งแรก ที่จังหวัดเชียงใหม่นอกจาก นายกรัฐมนตรี ตั้งเป้า ปีหน้า (2568) จะต้องไม่เกิดน้ำท่วมภาคเหนือเหมือน 2 เดือนก่อน พร้อมทั้ง เตรียมเสนอแผนแก้ปัญหาในภาพรวมอย่างเป็นระบบของศูนย์ข้อมูลประชาชน(ศปช. ) แล้ว
ที่เป็นไฮไลต์ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่เตรียม เสนอ ครม.สัญจร 29 พฤศจิกายน นี้ ต่ออายุมาตรการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย
ครอบคลุมรถไฟฟ้าสายสีแดง และรถไฟฟ้าสายสีม่วงต่อไปอีก 1 ปี โดยมีผลทันทีถึง 30 พ.ย.2568 ขณะที่ พระราชบัญญัติ (พรบ.) ตั๋วร่วม จะเสนอ ครม. สัปดาห์ถัดไป และ มั่นใจว่า มาตรการรถไฟฟ้า20 บาทตลอดสาย จะดึง ประชาชนเข้าใช้บริการ มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม คาดว่า นโยบาย รถไฟฟ้าทุกสีทุกสายราคาเดียว ตลอดสาย หรือ รถไฟฟ้า20บาทตลอดสาย จะ สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย ภายในเดือนกันยายน 2568
“ในการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่จังหวัดเชียงใหม่ (ครม.สัญจร) วันที่ 29 พ.ย.นี้ กระทรวงฯ จะเสนอวาระขออนุมัติขยายมาตรการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย สำหรับรถไฟชานเมืองสายสีแดง และรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ซึ่งมาตรการเดิมจะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 พ.ย.2567โดยการเสนอขออนุมัติขยายมาตรการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าดังกล่าว จะครอบคลุมเป็นเวลา 1 ปี โดยมีผลทันทีถึงวันที่ 30 พ.ย.2568 นับเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่ทำให้เกิดการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกระทรวงฯ ยังอยู่ระหว่างเดินหน้าขยายมาตรการค่าโดยสาร 20 บาทในเกิดขึ้นกับรถไฟฟ้าทุกสีทุกสายภายในเดือน ก.ย.2568 นายสุริยะกล่าว”
สำหรับการผลักดันมาตรการรถไฟฟ้า 20 บาททุกสีทุกสาย เนื่องด้วยต้องมีการจัดทำร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. ...เพื่อจัดตั้งกองทุนตั๋วร่วม จัดหาแหล่งเงินมาชดเชยค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่ปรับลดลงให้แก่เอกชนคู่สัญญา
จึงจำเป็นต้องรอให้กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เป็นผู้พิจารณาเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องด้วย โดยกระทรวงฯ คาดว่าจะสามารถเสนอร่าง พรบ.ตั๋วร่วม เพื่อให้ ครม.พิจารณาได้ในวันที่ 3 ธ.ค.นี้ ก่อนผลักดันตามขั้นตอนและมีผลบังคับใช้ตามเป้าหมายในเดือน ก.ย.2568
โดยภายในร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... จะมีการระบุรายละเอียดเกี่ยวกับกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม ไว้ในมาตรา 29 และมาตรา 30 โดยแบ่งเป็น มาตรา 29 กำหนดให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในสำนักงาน เรียกว่า “กองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม”
มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนในการดำเนินงาน การพัฒนา และการส่งเสริมเกี่ยวกับการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม รวมทั้งมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
1. เพื่อส่งเสริมและอุดหนุนประชาชนผู้ใช้บริการระบบตั๋วร่วมให้สามารถใช้ระบบขนส่งสาธารณะด้วยความสะดวก โดยมีต้นทุนการเดินทางที่สมเหตุสมผล
2. เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานระบบตั๋วร่วมของผู้รับใบอนุญาตที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากการเข้าร่วมระบบตั๋วร่วม
3. เพื่อให้ผู้รับใบอนุญาตกู้ยืมสำหรับดำเนินการลงทุน ปรับปรุง และพัฒนาการให้บริการระบบตั๋วร่วม
ขณะแหล่งที่มาของเงินกองทุนฯ มีการกำหนดไว้ใน มาตรา 30 กองทุนประกอบด้วยเงินและทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้
1. เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้
2. เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้
3. เงินค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต
4. เงินที่ได้รับตามมาตรา 31 ว่าด้วยให้ผู้รับใบอนุญาตนำส่งเงินเข้ากองทุน
5. เงินที่ได้รับจากผู้ให้บริการขนส่ง เมื่อมีสัญญาสัมปทาน สัญญาร่วมงาน หรือสัญญาร่วมลงทุนแล้วแต่กรณี มีข้อสัญญาให้ผู้ให้บริการขนส่งจะต้องส่งเงินเข้ากองทุน
6. เงินค่าปรับทางปกครองตามมาตรา 40
7. เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้แก่กองทุน
8. ดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน
ทั้งนี้ เงินอุดหนุนตาม ข้อ2 นั้น ให้รัฐมนตรีดำเนินการขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อสมทบเข้ากองทุนในแต่ละปีงบประมาณตามความจำเป็น เงินและทรัพย์สินของกองทุนตามวรรคหนึ่ง ไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน