จากกรณีที่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ปรับโครงสร้างทุน โดยการแปลงหนี้เป็นทุน ซึ่งกระทรวงการคลังใช้สิทธิตามแผนฟื้นฟู 100% ขณะที่เจ้าหนี้หุ้นกู้ และเจ้าหน้าสถาบันการเงิน ใช้สิทธิ 24.5 % ตามแผน และยังมีต้องการเกิน 3 เท่าอีกด้วย โดยที่ผ่านมามีจำนวนหุ้นที่จัดสรรสำหรับการแปลงหนี้เป็นทุนรวม 20,989.4 ล้านหุ้น มูลค่าที่แปลงหนี้เป็นทุนอยู่ที่ 53,453.2 ล้านบาท
ดังนั้นเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 บริษัท การบินไทย จำกัด ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้วของบริษัท อันเกิดจากการแปลงหนี้เป็นทุนของแผนฟื้นฟูกิจการตามที่ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินการดังกล่าว
แต่ทางสำนักงานบริการหนี้สาธารณะ( สบน) กระทรวงการคลังได้มีหนังสือถึงกรมพัฒนาธุรกิจการค้าขอให้ชะลอการจดทะเบียนจนหลังวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 การจดทะเบียนล่าช้าได้ส่งผลกระทบทางการเงินต่อบริษัทการบินไทย คือค่าดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายให้แก่เจ้าหนี้ วันละสองล้านบาทซึ่งการบินไทยคงต้องดำเนินการตามกฏหมายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งคดีอาญาและคดีแพ่งต่อไป
ล่าสุด นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ทำหนังสือที่ กบ พิเศษ 01-023 ถึงนายทะเบียนบริษัทมหาชนจำกัด กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยขอให้นายทะเบียนบริษัทมหาชนจำกัด ดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้วของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) อันเกิดจากการแปลงหนี้เป็นทุนตามข้อ 5.6.3 ของแผนฟื้นฟูกิจการตามคำสั่งศาลล้มละลายกลาง
โดยในหนังสือระบุว่า “ตามที่เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2567 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ”) ได้ยื่นคำขอจดทะเบียน (แบบ บมจ. 101) เพื่อขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้วของบริษัทฯ อันเกิดจากการแปลงหนี้เป็นทุนตามข้อ 5.6.3 ของแผนฟื้นฟูกิจการ ตามที่ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินการดังกล่าว ดังมีรายละเอียดปรากฏตามเอกสารที่อ้างอิง 1. และ 2. นั้น
การบินไทยขอเรียนให้นายทะเบียนโปรดพิจารณาดำเนินการรับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้วของบริษัทฯ ดังมีรายละเอียดตามคำขอจดทะเบียน โดยเมื่อศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งอนุญาตให้บริษัทฯ ดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทนชำระแล้วของบริษัทฯ อันเกิดจากการแปลงหนี้เป็นทุนตามข้อ 5.6.3 ของแผนฟื้นฟูกิจการแล้วนั้น ย่อมเป็นกรณีถือเป็นอำนาจและหน้าที่ของนายทะเบียนบริษัทมหาชนจำกัดในการดำเนินการตามคำสั่งศาลดังกล่าว โดยมิพักต้องรับฟังคำคัดค้านของเจ้าหนี้ของบริษัทฯ แต่อย่างใด
ทั้งนี้ หากมีเจ้าหนี้รายใดจะทำให้การจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนดังกล่าวล่าช้า โดยอ้างว่าจะกระทบความเป็นเจ้าหนี้ก็เป็นการอ้างของเจ้าหนี้รายหนึ่งในจำนวน 4,000 ราย และจะเป็นการทำให้เจ้าหนี้รายอื่นเสียเปรียบและการล่าช้าจะทำให้บริษัทมีผลกระทบที่จะต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่เจ้าหนี้ถึงวันละประมาณ 2 ล้านบาท และจะทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย มีผลกระทบอย่างร้ายแรง บริษัทฯจะได้ดำเนินการทั้งทางแพ่งและทางอาญา ต่อไป
แหล่งข่าวจากบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เผยว่า การที่กระทรวงการคลัง ขอชะลอการจดทะเบียนหุ้นออกไปเป็นหลังวันที่ 29 พฤศจิกายนนี้ มีความเป็นไปได้ที่ต้องการใช้สิทธิในฐานเจ้าหนี้ เพื่อโหวตเพิ่ม 2 ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการจากภาครัฐ 2 ราย ได้แก่ 1.นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม และ 2.นายพลจักร นิ่มวัฒนา รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นการขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการฉบับที่ 3 ของการบินไทย ที่เสนอเข้ามาให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาในวันนี้
เนื่องจากมีการมองว่าหากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าดำเนินการตามคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้วของบริษัทการบินไทยแล้วเสร็จ ก็จะมีผลทำให้กระทรวงการคลังไม่เป็นเจ้าหนี้การบินไทย และกลับสู่สถานะการเป็นผู้ถือหุ้น เพราะปัจจุบันกระทรวงการคลังแปลงหนี้ทั้งหมด 100% แล้ว
สำหรับโครงสร้างการถือหุ้นหลังการแปลงหนี้เป็นทุน และการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน การบินไทยได้สรุปโครงสร้างการถือหุ้นก่อนการปรับโครงสร้างทุนข้อมูล ณ 31 ต.ค.2567 พบว่า กระทรวงการคลัง ถือหุ้น 47.9% ,รัฐวิสาหกิจ 2.1% ,กองทุนวายุภักษ์ 7.6% ,ผู้ถือหุ้นอื่นๆ (เดิม) 42.4%
ส่วนโครงสร้างการถือหุ้นหลังการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนเบื้องต้น พบว่ากระทรวงการคลัง ถือหุ้น 33.4% ,รัฐวิสาหกิจ 4.1% ,กองทุนวายุภักษ์ 2.8% ,ผู้ถือหุ้นอื่นๆ (เดิม) 2.8% ,เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ 44.3% และผู้ถือหุ้นเดิมก่อนปรับโครงสร้างเงินทุน พนักงานและบุคคลในวงจำกัด ที่จองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้ 12.6%