ทะลวง แนวเส้นทาง-เวนคืน 47 หลัง สร้าง “ทางด่วนศรีนครินทร์ –สุวรรณภูมิ”

17 ธ.ค. 2567 | 05:05 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ธ.ค. 2567 | 05:13 น.

“กทพ.” เปิดรับฟังความคิดเห็นเอกชน ดันทางด่วนศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 2 หมื่นล้านบาท เผยแนวเส้นทาง-เวนคืนที่ดิน เริ่มปี 69 พบชาวบ้านได้รับผลกระทบ 47 หลัง เตรียมเปิดประมูลปี 70 ดึงเอกชนร่วมทุน PPP

นายกาจผจญ อุดมธรรมภักดี รองผู้ว่าการ (ยุทธศาสตร์และแผน) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า  กทพ.ได้จัดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน (Opinion hearing) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์ – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิวงเงินการลงทุนรวม 20,701 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้าง 19,136 ล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิที่ดิน 840 ล้านบาท และค่าควบคุมงานก่อสร้าง 725 ล้านบาท

สำหรับโครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์ – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จากผลการศึกษาพบว่ามีผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ (EIRR) ของโครงการ เท่ากับ ร้อยละ 14.04 และผลตอบแทนด้านการเงิน (FIRR) ของโครงการ เท่ากับ ร้อยละ 5.86 

ทั้งนี้ตามแผนมีระยะเวลาดำเนินโครงการคาดว่าจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)  อนุมัติโครงการ เพื่อเริ่มกระบวนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในปี 2568 จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกเอกชนแล้วเสร็จภายในปี 2570 และเวนคืนที่ดินและจ่ายค่าชดเชยทรัพย์สิน ภายในปี 2569 – 2571 คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างโครงการภายในปี 2571 – 2573 โดยเปิดบริการโครงการในปี 2574

ทะลวง แนวเส้นทาง-เวนคืน  47 หลัง สร้าง “ทางด่วนศรีนครินทร์ –สุวรรณภูมิ”

ขณะเดียวกันการเปิดรับฟังความคิดเห็นนั้นเพื่อให้ข้อมูลสาระสำคัญของโครงการแก่นักลงทุน ประเมินความสนใจและสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนของภาคเอกชน พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะจากนักลงทุนและผู้เกี่ยวข้อง นำไปประกอบการจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 
 

นายกาจผจญ กล่าวต่อว่า โครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์ - ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเดินทางที่จะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 รวมทั้งเป็นการเพิ่มศักยภาพด้านการคมนาคมและแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้เกิดความสะดวกและปลอดภัยต่อผู้เดินทางยิ่งขึ้น

ทะลวง แนวเส้นทาง-เวนคืน  47 หลัง สร้าง “ทางด่วนศรีนครินทร์ –สุวรรณภูมิ”

ส่วนรูปแบบการลงทุนจะเป็นเอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ (PPP) โดยรัฐจะรับผิดชอบงาน จัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และเอกชนจะรับผิดชอบงานออกแบบ และก่อสร้างงานโยธาของโครงการ รวมทั้งติดตั้งงานระบบทางพิเศษ รวมถึงดำเนินงานและบำรุงรักษา พร้อมจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง และบริหารจัดการ ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี โดยคาดว่าจะเริ่มในปี 2574 – 2603

จากผลการศึกษาทางพิเศษสายศรีนครินทร์ – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พบว่า การประมาณราคาค่าทดแทนที่ดิน โดยใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาค่าทดแทนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 ซึ่งอ้างอิงตามราคาที่ดินที่มีการซื้อขายกันในท้องตลาดในพื้นที่โครงการฯ เป็นหลักและใช้ราคาส่วนอื่น ๆ ประกอบการพิจารณา

ขณะเดียวกันจะมีคณะกรรมการกำหนดราคาอสังหาริมทรัพย์เบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทน เป็นผู้กำหนดราคาที่ดิน ราคาทดแทนสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงราคาค่าชดเชยอื่น ๆ

สำหรับผู้ได้รับผลกระทบประมาณ 76 ราย ที่ดินที่ได้รับผลกระทบ ประมาณ 111 แปลง รวมเนื้อที่ดินที่ได้รับผลกระทบประมาณ 43,743 ตารางเมตร และสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับผลกระทบประมาณ 47 หลัง

ทะลวง แนวเส้นทาง-เวนคืน  47 หลัง สร้าง “ทางด่วนศรีนครินทร์ –สุวรรณภูมิ”

เส้นทางที่ได้รับผลกระทบ 5 แนวเส้นทาง

  • ทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์ (จุดเริ่มต้นโครงการ)
  • สะพานกลับรถ กม.2+000
  • สะพานกลับรถ กม.10+000
  • ทางแยกต่างระดับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
  • สะพานกลับรถ กม.15+000 (จุดสิ้นสุดโครงการ)

ด้านแนวเส้นทางโครงการเป็นรูปแบบทางยกระดับตามแนวทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 โดยมีจุดเริ่มต้นบริเวณจุดปลายของทางพิเศษศรีรัช ส่วน D ในปัจจุบัน เป็นทางยกระดับ 2 ฝั่ง แบ่งทิศทาง (ไป-กลับ) ทิศทางละ 2 ช่องจราจร 

ทั้งนี้ตั้งอยู่บริเวณเกาะกลางระหว่างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 และทางบริการ ทั้ง 2 ฝั่ง (ทิศเหนือ-ทิศใต้) มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกผ่านทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์

ทะลวง แนวเส้นทาง-เวนคืน  47 หลัง สร้าง “ทางด่วนศรีนครินทร์ –สุวรรณภูมิ”

จากนั้นทางยกระดับด้านทิศเหนือจะเบี่ยงลงมารวมกับทางยกระดับด้านทิศใต้เป็นโครงสร้างทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร ระยะทางประมาณ 8.95 กิโลเมตร 

ขณะเดียวกันผ่านทางแยกต่างระดับทับช้าง ก่อนจะแยกโครงสร้างเป็น 2 ฝั่งของทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 บริเวณจุดตัดถนนร่มเกล้า จากนั้นจะแยกออกจากทางหลักขนาด 2 ช่องจราจร เลี้ยวขวาเข้าเชื่อมทางเข้า-ออกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่ทางแยกต่างระดับสุวรรณภูมิ และทางหลักจะมุ่งหน้าผ่านทางแยกต่างระดับสุวรรณภูมิ 

จากนั้นลดระดับลงบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 บริเวณหน้าสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) รวมระยะทางทั้งหมดประมาณ 15.8 กิโลเมตร โดยมีจุดเข้า-ออกโครงการ 3 จุด คือ 1) จุดเริ่มต้นโครงการ บริเวณทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์ 2) 

ส่วนจุดเชื่อมต่อทางเข้า-ออกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และ 3) จุดสิ้นสุดโครงการ บริเวณหน้า สจล. และมี ด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษตั้งอยู่บนโครงสร้างทางยกระดับทั้งฝั่งขาเข้าและฝั่งขาออก บริเวณทางแยกต่างระดับร่มเกล้า โดยจัดเก็บค่าผ่านทางระบบเปิด แบบใช้พนักงาน (MTC) และแบบอิเล็กทรอนิกส์ (ETC) ร่วมกัน