วันนี้ (19 ธันวาคม 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (บอร์ดส่งเสริมฯ สสว.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบโครงการสำคัญเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวม 4 โครงการ โดยใช้เงินงบประมาณ และเงินของกองทุนส่งเสริมเอสเอ็มอี วงเงินรวมกว่า 2,366 ล้านบาท
สำหรับโครงการสำคัญที่ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมครั้งนี้ ส่วนแรกเป็นการสนับสนุนเงินกู้ให้แก่ผู้ประกอบการ วงเงินงบประมาณ 2,000 ล้านบาท สำหรับดำเนินการก่อตั้ง ปรับปรุง และพัฒนากิจการของเอสเอ็มอี ผ่านสถาบันการเงินของรัฐ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ผ่าน 2 โครงการ ดังนี้
1.การจัดวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ Transformation Fund เพื่อสนับสนุนวงเงินให้เอสเอ็มอีใช้ในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจ วงเงิน 1,000 ล้านบาท โดยปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีวงเงินไม่เกินรายละ 10 ล้านบาท คิดดอกเบี้ย 1% ระยะเวลาให้กู้ 5 ปี
2.การจัดวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ วงเงิน 1,000 ล้านบาท โดยจะปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีวงเงินไม่เกินรายละ 5 ล้านบาท คิดดอกเบี้ย 1% ระยะเวลาให้กู้ 5-7 ปี
“การจัดวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำครั้งนี้จะเป็นแหล่งเงินให้เอสเอ็มอีที่ต้องการปรับเปลี่ยนธุรกิจตัวเองให้แข่งขันกับตลาดได้ เช่น เดิมเคยผลิตอุปกรณ์หรืออะไหล่รถยนต์ แต่ตอนนี้รถยนต์ได้เปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV แล้ว หรือเปลี่ยนเป็นเครื่องมือแพทย์ หรือทำธุรกิจสัตว์เลี้ยง ก็สามารถใช้โรงงานเดิมไปปรับเปลี่ยนการผลิตได้ ซึ่งรัฐบาลจะมีเงินสนับสนุนให้” นายประเสริฐ กล่าว
นายประเสริฐ กล่าวว่า ที่ประชุมยังสนับสนุนงบประมาณโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS (Business Development Service) ในปีงบประมาณ 2569-2570 เพิ่มเติม วงเงินงบประมาณ 300 ล้านบาท โดยเอสเอ็มอีแต่ละรายจะได้รับการอุดหนุนทั้งหมดไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย เพื่อนำไปปรับปรุงธุรกิจรองรับการขยายตลาดสินค้าไปยังประเทศที่มีกฎหมายสิ่งแวดล้อมบังคับใช้ต่อไป
สำหรับโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS นั้น สสว. จะอุดหนุนค่าใช้จ่ายแบบร่วมจ่าย (Co-payment) เป็นสัดส่วนตามขนาดของธุรกิจตามนิยามเอสเอ็มอีของ สสว. คือ นิติบุคคล/บุคคลที่จดทะเบียน ภาครัฐ/วิสาหกิจชุมชน แบ่งเป็น
รองนายกฯ กล่าวอีกว่า ที่ประชุม สสว. ยังอนุมัติวงเงินงบประมาณ 66.7 ล้านบาท เพื่อดำเนินมาตรการเมดอินไทยแลนด์กระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยต่าง ๆ ผ่านการจัดงานแสดงสินค้า การจับคู่ธุรกิจ 1,200 ราย คาดว่าจะทำให้เกิดการซื้อขายในแต่ละงานไม่ต่ำกว่า 90 ล้านบาท
"ในขั้นตอนต่อจากนี้ หลังจากผ่านการเห็นชอบจากบอร์ดแล้ว จะเร่งออกโครงการทั้งหมดเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อให้เอสเอ็มอีรอดพ้นจากวิกฤตไปได้ โดยการช่วยเหลือจะครอบคลุมทุกกลุ่ม โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจะเป็นประโยชน์ต่อเอสเอ็มอีอย่างมาก” รองนายกฯ ระบุ