แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2569 - 2572) ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐเสนอ ล่าสุดสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ยังได้เสนอความเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของครม. โดยมีข้อสังเกตที่น่าสนใจ ดังนี้
สถานะทางการคลังตามแผนการคลังระยะปานกลางฉบับนี้ กำหนดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ปรับตัวสูงขึ้นเข้าใกล้ 70% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ใช้เป็นกรอบในการบริหารหนี้สาธารณะตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และสัดส่วนรายได้รัฐบาลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ยังคงต่ำกว่า 15% ขณะที่สัดส่วนงบประมาณรายจ่ายต่อ GDP เฉลี่ย 18.8%
จึงส่งผลให้พื้นที่ทางการคลังลดลง และอาจจะไม่เพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ในกรณีฐานจนทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ในระดับสูงเกินกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ และมีความจำเป็นที่จะต้องใช้งบประมาณรายจ่ายมากขึ้นในการประคับประคอง และแก้ไขปัญหา
ดังนั้น การเร่งรัดการสร้างเสถียรภาพทางการคลังจึงมีความจำเป็นเร่งด่วน โดยเฉพาะการให้ความสำคัญต่อการลดขนาดการขาดดุลงบประมาณ รวมทั้งความชัดเจนในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายภาครัฐ
รวมทั้งการจัดสรรงบชำระหนี้ของรัฐบาลให้สอดคล้องกับขนาดของมูลหนี้และดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีงบประมาณ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและลดความเสี่ยงจากการประเมินอันดับความน่าเชื่อถือ
ทั้งนี้เพื่อให้มีพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal space) ที่เพียงพอสำหรับรองรับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่ยังคงอยู่ในเกณฑ์สูง และการพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาวท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในระยะถัดไปที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ทั้งในด้านความผันผวนของเศรษฐกิจโลก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด
สำหรับแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2569 - 2572) มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดายละเอียด รายได้รัฐบาลสุทธิ งบประมาณรายจ่าย ดุลการคลัง หนี้สาธารณะคงค้าง และผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) สรุปได้ดังนี้
รายได้รัฐบาลสุทธิ
งบประมาณรายจ่าย
ดุลการคลัง
หนี้สาธารณะคงค้าง
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)