ผู้ประกอบการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 5 รายใหญ่ในเมืองไทย นำโดยนายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” , นายปริญญา สิทธิดำรง กรรมการ บริษัท โชคชัยพิบูล จำกัด ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จ “ซื่อสัตย์” “จายา” , นายวีระ นภาพฤกษ์ชาติ กรรมการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงงานผลิตอาหารไทย จำกัด ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “ไวไว”
นายกิติพศ ชาญภาวรกิจ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท วันไทย อุตสาหกรรมอาหาร จำกัด ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “ยำยำ” และมร.ฮิจิริ ฟูกุโอกะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิชชิน ฟูดส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “นิชชิน” ร่วมกันลงนามในจดหมายเปิดผนึก พร้อมยื่นต่ออธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) ในวันที่ 16 สิงหาคมนี้ เวลา 09.30 น. โดยเนื้อหาจดหมาย เป็นการเร่งรัดให้คน. พิจารณาการปรับขึ้นราคาสินค้าจาก 6 บาทเป็น 8 บาท ภายในสัปดาห์นี้
นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปต่างต้องเผชิญกับต้นทุนสินค้าที่ปรับสูงขึ้นตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันยังไม่ลดลง ส่งผลให้ต้นทุนสินค้าโดยเฉลี่ยปรับสูงขึ้นจนทำให้บริษัทไม่มีกำไร และบางบริษัทไม่สามารถเดินหน้าผลิตได้
ขณะเดียวกันผู้ประกอบการต่างยื่นขอปรับราคาสินค้าต่อกรมการค้าภายใน ขึ้นไปแล้ว เฉลี่ย 2-3 ครั้ง แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณา รวมทั้งขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการให้ตรึงราคาขายต่อไป แต่ในความเป็นจริงจะพบว่า ต้นทุนของแป้งสาลี ปรับขึ้นเฉลี่ย 25-30% ส่วนน้ำมันปาล์มก็เพิ่มขึ้น 100% ยังไม่นับรวมบรรจุภัณฑ์ที่ปรับขึ้นเช่นกัน
“มาม่ายื่นขอปรับราคาจาก 6 บาทเป็น 7 บาท ก็ไม่ได้รับการพิจารณา ต่อมาผลิตสินค้าใหม่ออกวางตลาดยื่นขอจำหน่ายในราคา 8 บาท ก็ไม่ได้รับการพิจารณา ครั้งนี้ขอยื่นให้พิจารณาจาก 6 บาทเป็น 8 บาท เพราะทุกวันนี้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นมาก และไม่มีทีท่าจะลดตั้งแต่กลางปีก่อน จนผู้ประกอบการทุกแบรนด์ต้องจับมือกัน เพราะทุกแบรนด์เผชิญปัญหาเดียวกัน และไม่สามารถเดินหน้าต่อได้”
ทั้งนี้ที่ผ่านมา ทุกแบรนด์พยายามแก้ปัญหาด้วยการหันไปทำตลาดต่างประเทศ เพราะต่างประเทศสามารถขึ้นราคาได้ แต่เราก็ไม่อยากให้กระทบต่อตลาดในประเทศ ซึ่งอนาคตหากต่างประเทศขายสินค้าได้ดี ได้มากกว่า เราก็ต้องผลิตเพื่อส่งออก สินค้าในเชลฟ์ในเมืองไทยก็อาจขาดแคลนได้
อย่างไรก็ดี การยื่นหนังสือเปิดผนึกครั้งนี้ เพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงและผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อเร่งรัดให้คน. พิจารณาถึงความเหมาะสมในการปรับราคา เพราะยิ่งนานวัน เราก็ต้องแบกภาระต้นทุนเพิ่ม ทุกแบรนด์พยายามควบคุมต้นทุนให้อยู่ได้ แต่ธุรกิจก็ต้องเหลือกำไร มีมาก มีน้อย ก็ต้องมีกำไร หากยิ่งทำไปยิ่งขาดทุน จะเดินหน้า ตอบผู้ถือหุ้นหรือพนักงานได้อย่างไร
นายวีระ นภาพฤกษ์ชาติ กรรมการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงงานผลิตอาหารไทย จำกัด ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “ไวไว” กล่าวว่า ยอมรับว่าในบางเดือนยอดขายเป็นตัวแดง เพราะต้นทุนที่สูงมาก ทั้งแป้งสาลีที่ปรับขึ้นไปแล้ว 20-30% น้ำมันปาล์ม 100% ฟิล์ม/กล่อง ก็ขึ้นราคา
“ไวไว ประสบภาวะขาดทุนในสินค้าหลายรายการ รอบนี้เหมือนโดน 2 เด้ง หากปรับค่าแรงขึ้นอีกก็เป็น 3 เด้ง เราต้องทำเรื่องขอขึ้นราคา เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด ถ้าไม่อนุมัติเราก็ต้องลดการขายในประเทศ และหันไปส่งออกมากขึ้น เพราะยิ่งขาดเยอะ เรายิ่งเจ็บตัว”
ขณะที่นายกิติพศ ชาญภาวรกิจ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท วันไทย อุตสาหกรรมอาหาร จำกัด ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “ยำยำ” กล่าวว่า ยำยำ ได้รับผลกระทบตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด-19 ที่พบว่า ราคาแป้งสาลี น้ำมันปาล์ม ปรับขึ้นสูง จนวันนี้จะพบว่าต้นทุนแป้งสาลีปรับขึ้นเกือบ 50% น้ำมันปาล์มปรับขึ้นเท่าตัว แต่คน. ยังไม่ให้ปรับราคาขึ้น ทุกวันนี้การผลิตของบริษัทจึงเน้นผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลัก เพราะตลาดต่างประเทศปรับขึ้นได้ เราปรับขึ้นไปแล้ว 2 รอบ เฉลี่ยกว่า 10%
มร.ฮิจิริ ฟูกุโอกะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิชชิน ฟูดส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “นิชชิน” กล่าวว่า วันนี้นิชชินมีทำตลาดทั้งในญี่ปุ่น จีน อเมริกา อินเดีย บราซิล เวียดนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ซึ่งหลายประเทศปรับราคาสินค้าขึ้นไปแล้ว เพื่อให้สอดรับกับต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น โดยล่าสุดญี่ปุ่นได้ปรับราคาขึ้น 12%
“ทั้งนี้การปรับราคาขึ้นจะทำให้ผู้ผลิตสามารถเดินหน้าผลิตสินค้าออกวางจำหน่ายได้ รวมทั้งยังมีกำลังมากพอในการพัฒนาและวิจัยสินค้าใหม่ๆ ออกสู่ตลาด”
นายปริญญา สิทธิดำรง กรรมการ บริษัท โชคชัยพิบูล จำกัด ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จ “ซื่อสัตย์” “จายา” กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราเป็นเด็กดีมาตลอด ขอให้ตรึงราคา เราก็ตรึง แต่วันนี้เราขาดทุนจริง ที่ผ่านมาคน. กำหนดเพดานราคาบะหมี่ฯไว้ที่ 6 บาท แต่เมื่อมีโปรโมชั่น ก็จะขาย 5-5.50 บาท แต่วันนี้ต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้เราต้องปรับราคา ไม่สามารถแบกรับต่อได้อีก
ต้องจับตาดูอีกครั้งว่า หลังการยื่นหนังสือเปิดผนึกกับคน. แล้ว จะมีคำตอบอย่างไร