รพ.เอกชน แข่งเดือด เฟ้นหาพันธมิตร เสริมแกร่ง-สร้างรายได้

20 ก.ย. 2565 | 06:50 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.ย. 2565 | 13:55 น.

ชี้เทรนด์โรงพยาบาลเอกชนแข่งเดือด จับตาบิ๊กดีล ขาใหญ่ควบรวมขาใหญ่เสริมแกร่งธุรกิจ ขณะที่ Medical Tourism พุ่งหลังเปิดประเทศ กลุ่มตะวันออกกลางพาเหรดใช้บริการแตะ 70% แนะรัฐเพิ่มกำลังการผลิตแพทย์ หวั่นเกิดการทุ่มเงินซื้อตัว ขณะที่เงินเฟ้อ อาจส่งผลกระทบทั่วโลก

ศูนย์วิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประเมินอัตราการเติบโตของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนว่าภาพรวมมีความมั่นคงและมีความเสี่ยงต่ำ โดยธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเติบโตต่อเนื่องตามความต้องการใช้บริการที่เพิ่มขึ้นจากผู้ป่วยทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะจากประเทศเพื่อนบ้านและกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

 

โดยโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพเร่งขยายกิจการผ่านการซื้อ/ควบรวม เปิดสาขาใหม่ในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดที่เป็นเมืองสำคัญ และเข้ามาถือหุ้นของโรงพยาบาลเอกชนอื่นๆ เพื่อลงทุนหรือสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ จึงเกิดกลุ่มโรงพยาบาลขนาดใหญ่ขึ้นหลายกลุ่ม อาทิ กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ

 

กลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี และกลุ่มโรงพยาบาลเกษมราษฏร์ การรวมกลุ่มดังกล่าวเพิ่มความเข้มแข็งและมีลูกค้าเป้าหมายชัดเจน ขณะที่โรงพยาบาลขนาดกลางและเล็กต่างเร่งปรับตัวไปสู่การเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อเจาะลูกค้าเฉพาะกลุ่ม (Niche market) ทำให้แนวโน้มธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนสดใสและเติบโตได้อีกมาก

รพ.เอกชน แข่งเดือด เฟ้นหาพันธมิตร เสริมแกร่ง-สร้างรายได้

รศ.ดร.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เปิดเผยว่า ภาพรวมการแข่งขันของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ปัจจุบันคนไข้ในโรงพยาบาลเอกชนกลับมาคึกคักแล้วส่วนใหญ่ยังเป็นคนไข้กลุ่มประกันสังคมและโรคซับซ้อน ขณะที่คนไข้เงินสดเริ่มทยอยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเพราะความกังวลเรื่องโควิดน้อยลง

 

ทำให้ผลประกอบการบางโรงพยาบาลตัวเลขกลับมาเทียบเท่าปี 2562 แล้ว นอกจากนี้สิ่งที่รพ.พยายามทำคือ wellness เพื่อป้องกันตัวก่อนล่วงหน้า เพราะฉะนั้นหลังจากนี้โปรแกรมในการเช็คอัพจะละเอียดมากขึ้นทำให้ภาคบริการทางการแพทย์ต้องนำดิจิตอลเข้ามาใช้เพื่อทำให้การวินิจฉัยละเอียดขึ้นลึกขึ้นเร็วขึ้น

           

“ก่อนโควิด มีการประเมินว่าถ้าประเทศไทยสามารถที่จะขับเคลื่อน Medical hub ตามแผนได้จะสามารถทำเม็ดเงิน 1.4 แสนล้านบาท และเม็ดเงินจะไปอยู่กับภาคเอกชน 65% ซึ่ง Medical hub สมบูรณ์แบบน่าจะเกิดขึ้นภายใน 2-3 ปี ตัวแปรที่สำคัญที่สุดในตอนนี้คือ เงินเฟ้อ ซึ่งเราไม่มั่นใจว่าจะเกิด global crisis หรือ economic crisis หรือไม่ ถ้าเกิดขึ้นคนจะไม่อยากเดินทาง แต่ถ้าไม่มีประเด็นเรื่องนี้จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาจำนวนมาก

รพ.เอกชน แข่งเดือด เฟ้นหาพันธมิตร เสริมแกร่ง-สร้างรายได้

นอกจากนี้ก็ยังมีตัวแปรทางด้าน politics uncontrollable แต่เนื่องจากว่าโรงพยาบาลเอกชนถูกพัฒนามาเยอะแล้ว จากโรงพยาบาลเดี่ยวขนาดเล็กก็ขายกิจการไปหมดแล้ว ส่วนโรงพยาบาลที่ยังอยู่ก็อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ 23 ค่ายยังสามารถออกเงินกู้ได้ ขณะที่การ M&A จะเป็นตัวเร่งให้ธุรกิจโรงพยาบาลกลับเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านของแต่ละกลุ่ม เพราะผู้บริหารแต่ละกลุ่มเริ่มอาวุโสถ้าไม่มีการวางแผนธุรกิจให้ดี ค่ายอาจแตกและถูกซื้อจากผู้มีเงินซึ่งเป็นธรรมชาติของธุรกิจ

           

ปัจจุบันธุรกิจโรงพยาบาลขนาดกลางขนาดเล็กในตลาดถูกซื้อไปหมดแล้วตั้งแต่ปี 2540 แต่แม้ว่าการซื้อกิจการหรือการ acquire หรือ M&A จะทำให้ได้ฐานลูกค้า แต่ส่วนที่เหลือทางกายภาพหากไม่ทำให้ทันสมัย อาจต้องทุบทิ้งและสร้างใหม่ ส่วนโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมี แต่ไม่ ประสบความสำเร็จ สำหรับประเทศไทย เพราะรูปแบบธุรกิจไม่เหมือนกัน

 

ดังนั้นโรงพยาบาลในประเทศไทยคงไม่มีทุนต่างชาติเข้ามาซื้อ ประเด็นต่อมาคือประเทศไทยมี 23 กลุ่มโรงพยาบาลที่มีความสามารถซื้อคนอื่นได้ คือกลุ่มที่อยู่ในตลาด หลักทรัพย์ที่ต้องการขยายและ acquire แต่โรงพยาบาลเล็กๆ ไม่มีใครต้องการacquire เพราะที่ดินน้อยไม่มีที่จอดรถ แต่หลังจากนี้ภาพที่จะเห็นคือการซื้อค่ายต่อค่ายหรือ Big Deal ขาใหญ่เจอขาใหญ่ เกิดขึ้นแน่นอน”

รศ.ดร.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์

รศ.ดร.นพ.เฉลิม กล่าวอีกว่า ไทยได้รับการชื่นชมในเรื่อง Medical Tourism จำนวนมาก บางปีครองตำแหน่ง Destination Medical Tourism เป็นอันดับ 1 ของโลกและก่อนโควิดไทยมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาประมาณ 40 ล้านคน ก่อนจะหายไปในช่วงโควิดแต่หลังจากมีการเปิดประเทศ

 

คาดว่านักท่องเที่ยวจะเดินทางเข้ามา 9.5 ล้านคน ในจำนวนนี้มี Medical Tourism ประมาณ 8-12% แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันโลกมีเรื่องของเงินเฟ้อซึ่งมีผลต่อค่าใช้จ่ายต่างๆทำให้ นักท่องเที่ยวหลักที่จะเดินทางเข้ามาคือกลุ่มตะวันออกกลางและอาจพ่วงมาด้วยซาอุดิอาระเบีย ส่วนประเทศอื่นก็อาจจะทรงๆอยู่

 

ทั้งนี้ในช่วงก่อนเกิดโควิดประเทศไทยทำรายได้จาก Medical Tourism ประมาณ 1.4 แสนล้านบาท แต่ปัจจุบันรัฐบาลส่งเสริม Medical hub เป็น New S Curve ใหม่เนื่องจากมองเห็นว่าบริการทางการแพทย์ได้รับความนิยมและเรียกแขกต่างชาติได้จำนวนมาก เนื่องจากข้อได้เปรียบของประเทศไทยมี 3 ส่วนคื อราคาฮอทพิทาลิตี้, การบริการของคนไทยและแพทย์ ที่เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางสูง

 

“จากเดิมคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวจะเข้ามาหลังจากเปิดประเทศ 6 ล้านคน ตอนนี้มีการขยับเป้าเป็น 9.5 ล้านคนในจำนวนนี้ 8-12% เป็นคนไข้เพราะอั้นมาหลายปี โดยชาติแรกที่จะเข้ามาคือตะวันออกกลางประมาณ 70% และนักท่องเที่ยวต่างชาติอื่นๆอีก 30% และอาจได้รับอานิสงส์จากการเปิดความสัมพันธ์กับซาอุดิอาระเบียเข้ามาช่วยหนุนตลาด ซึ่งส่วนใหญ่จะจ่ายเงินสด เพราะซาอุดิอาระเบียเป็นประเทศที่ใหญ่และร่ำรวย ซึ่งจงใจเข้ามาทำการรักษาหรือซื้อสินค้าเฉพาะเพื่อเซฟชีวิตในเฟซแรกที่เราเปิดประเทศ เช่นรักษาโรคเช่น หัวใจ มะเร็ง เบาหวานหรือผ่าตัด ส่วนบริการฟุ่มเฟือยเช่นศัลยกรรม ทันตกรรมจะมาทีหลัง”

           

นายกสมาคมฯ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันไทยถือว่าได้เปรียบทางการแข่งขันเพราะเปิดประเทศในเงื่อนไขที่น้อยมากและหลังจากนี้จะมีวีซ่าคนไข้ทำให้การเข้ามาของผู้ป่วยเดินทางมารักษาสะดวกขึ้น แต่โจทย์สำคัญคือแก้ไขในสิ่งที่เคยเป็นอุปสรรคนั่นคือจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอ ซึ่งเห็นได้ชัดในช่วงโควิดที่ผ่านมาว่าไทยยังขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างมาก

 

เพราะฉะนั้นจะต้องมีทั้งฝ่ายลงทุน ฝ่ายการผลิต ฝ่ายเตรียมคน ฝ่ายสเปเชียลริตี้ให้เพียงพอ ไม่เช่นนั้นสุดท้ายจะเกิดการซื้อตัวและแย่งชิงบุคลากรทางการแพทย์โดยใช้เงินในการล่อใจ สุดท้ายคน ผู้ป่วยเป็นคนรับกรรมเพราะโรงพยาบาลจะผลักภาระไปสู่ผู้บริโภคทั้งหมด วันนี้ต่างชาติอาจจะจ่ายได้แต่คนไทยไม่สามารถที่จะจ่ายได้

           

“ในแต่ละปีไทยสามารถที่จะผลิตหมอได้ปีละ 3,000 คน ซึ่งพอไหวแต่ประเด็นคือ 1,500 คนเลี่ยงไปอยู่คลินิกเสริมความงามทั้งหมด เพราะไม่มีโอกาสเข้าไปเทรนเป็นผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งสมาคมพร้อมที่จะให้ทุนในการเทรนเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ไทยจะต้องมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและไม่ลดคุณภาพมาตรฐานเด็ดขาด ถ้าเราลดคุณภาพ ประสิทธิภาพของเมดิคอลฮับจะเสื่อม นอกจากนี้ยังต้องเตรียมความพร้อมแต่ละสถานที่ให้มีความปลอดภัยสูงและเทรนคนในแต่ละอาชีพในการบริการคนต่างชาติ ประเทศไทยจึงจะสามารถทำรายได้หรือทำค่าใช้จ่ายต่อหัวได้สูง”

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,818 วันที่ 15 - 17 กันยายน พ.ศ. 2565