ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ภาครัฐได้มีมาตรการอำนวยความสะดวกการตรวจลงตราวีซ่าที่จะเป็นหนึ่งในปัจจัยหนุนให้คนไข้ต่างชาติ (Medical Tourism) เลือกเดินทางมาใช้บริการทางเข้ามารักษาพยาบาลในประเทศไทย เพื่อเร่งฟื้นฟูการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19 คลี่คลาย โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ
1) การให้วีซ่าพำนักระยะยาวสำหรับชาวต่างชาติที่มีศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็นชาวต่างชาติที่อายุไม่ต่ำกว่า 50 ปี จาก 14 ประเทศ เพื่อเข้ามาพักผ่อนหรือใช้ชีวิตหลังเกษียณ กลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูง กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย และกลุ่มผู้มีทักษะความเชี่ยวชาญพิเศษ โดยต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด
2) การขยายฟรีวีซ่า 30 วัน ให้กับนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งอาจมีนักท่องเที่ยวบางส่วนใช้บริการรักษาพยาบาลที่ไม่ซับซ้อน ใช้เวลาไม่มากนัก เช่น การตรวจสุขภาพ ทันตกรรม
3) การอนุมัติหลักการวีซ่าเพื่อการรักษาพยาบาลในกลุ่มโรคและหัตถการที่ไทยมีศักยภาพ ซึ่งมีระยะเวลา 1 ปี เดินทางเข้าออกได้หลายครั้ง ครั้งละไม่เกิน 90 วัน
โดยธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนน่าจะได้รับอานิสงส์จากมาตรการข้างต้น ทั้งด้านการอำนวยความสะดวกให้แก่คนไข้กลุ่มเดิมและการขยายตลาดใหม่ๆ ซึ่งในระยะสั้นกลุ่มคนไข้ต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาน่าจะเป็นกลุ่มประเทศ CLMV และตะวันออกกลาง
เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โอมาน กาตาร์ และซาอุดีอาระเบีย ที่คาดว่าจะมีบางส่วนเข้ามารักษาพยาบาลจากเป้าหมายไม่น้อยกว่า 1 แสนคนต่อปี ตามมาตรการฟรีวีซ่า
ในขณะที่กลุ่มคนไข้ชาวยุโรปที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของมาตรการวีซ่าพำนักระยะยาวที่ตั้งเป้าจะเพิ่มจำนวนผู้พำนัก 1 ล้านคน ในระยะ 5 ปี อาจกลับมาได้ในระยะต่อไป เนื่องจากยังต้องติดตามสถานการณ์เงินเฟ้อ วิกฤตพลังงาน
และสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่กดดันกำลังซื้อและความเชื่อมั่นในการเดินทาง เช่นเดียวกับกลุ่มชาวจีนที่ยังมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศ รวมทั้งข้อจำกัดในการเดินทางตามนโยบายโควิดเป็นศูนย์อีกด้วย
จากมาตรการตรวจลงตราที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่คนไข้มากขึ้น รวมถึงวีซ่าเพื่อการรักษาพยาบาลที่มีอายุยาว 1 ปี ซึ่งจะบังคับใช้ในอนาคต ประกอบกับมาตรฐานทางการแพทย์ของไทยซึ่งเป็นที่ยอมรับด้านความน่าเชื่อถือ การบริการ และค่ารักษาพยาบาลที่แข่งขันได้แล้ว ทำให้โรงพยาบาลเอกชนที่รองรับกลุ่มคนไข้ต่างชาติ โดยโรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพฯ และเมืองท่องเที่ยว
เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต ชลบุรี ที่มีการรักษาพยาบาลที่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะความเชี่ยวชาญในกลุ่มโรคที่ไทยมีศักยภาพตามเกณฑ์วีซ่ารักษาพยาบาล อาทิ เวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด ทันตกรรม ศัลยกรรมความงาม พร้อมทั้งบริการช่วยเหลือประสานงานในการเดินทาง หรือการจัดแพคเกจรักษาพยาบาลครบวงจร จะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่น่าจะเข้าถึงกลุ่มคนไข้ต่างชาติได้มากขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงมองว่า การกลับมาของคนไข้ต่างชาติตามนโยบายเปิดประเทศและการเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐ น่าจะส่งผลให้รายได้ค่ารักษาพยาบาลของคนไข้ต่างชาติ ทั้งจากคนไข้ต่างชาติที่เดินทางมารักษาพยาบาลในไทย (Medical Tourism) และ คนไข้ต่างชาติที่พำนักในไทย (EXPAT) ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ปี 2565 อยู่ที่ประมาณ 47,000 ล้านบาท เติบโตกว่า 60%
จากฐานที่ต่ำในปี 2564 ที่ไม่มีคนไข้ต่างชาติในรูปแบบ Medical Tourism มาใช้บริการจากผลกระทบของโควิด-19 (รายได้ค่ารักษาพยาบาลจากคนไข้ต่างชาติทั้งหมด ครึ่งแรกของปีอยู่ที่ 21,500 ล้านบาท ขยายตัว 85% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน) ขณะที่รายได้จากคนไข้โควิด-19 ในประเทศมีแนวโน้มลดลงตามสถานการณ์การระบาดที่คลี่คลาย
แต่จะถูกชดเชยด้วยคนไข้ทั่วไปที่จะกลับเข้ามารักษาตามปกติและเน้นการขยายบริการ Wellness มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ภาพรวมของรายได้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนยังเติบโตได้ในปี 2565 ทั้งจากจำนวนคนไข้และค่าบริการรักษาพยาบาลที่คาดว่าจะสูงขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อและต้นทุนการดำเนินธุรกิจด้วย
อย่างไรก็ดี จะต้องติดตามการฟื้นตัวของจำนวนคนไข้ต่างชาติ ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้าต่อไป เนื่องจากยังมีปัจจัยกดดันทั้งภาวะเศรษฐกิจโลก สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ ซึ่งอาจจะกระทบต่อกำลังซื้อและการเดินทางระหว่างประเทศ