นางนงนุช บูรณะเศรษฐกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจอาหาร ประเทศไทย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ ไทยเบฟ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มองว่าภาพรวมในไตรมาส 4 ของปีนี้มีแนวโน้มดีขึ้น แม้โควิด-19 จะยังอยู่แต่ผู้บริโภคจะออกใช้ชีวิตตามปกติมากขึ้น ดังนั้นหน้าที่ของผู้ประกอบการคือการหาโมเดลที่ตรงกับความต้องการของเขา รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เริ่มกลับเข้ามามากขึ้นด้วย ถือเป็นสัญญาณบวกต่อภาคธุรกิจ
ขณะที่สิ่งที่น่ากลัวคือ ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทั้งการประกาศขึ้นค่าแรง ทำให้รายได้ที่เข้ามา อาจจะไม่เหมือนเดิม เพราะมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งต้องหาวิธีใช้สิ่งที่เรามีอยู่ เพื่อให้กระทบลูกค้าให้น้อยที่สุด ซึ่งที่ผ่านมายอมรับว่ามีการปรับราคาสินค้าขึ้นบ้าง แต่จะเป็นการปรับเพิ่มในสิ่งใหม่ ที่เป็นทางเลือกให้กับลูกค้า เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกว่าไม่ถูกเอาเปรียบ และลูกค้าส่วนใหญ่รู้อยู่แล้วว่าต้นทุนสินค้าเพิ่ม
“ปัจจัยลบที่ต้องเฝ้าระวังคือ เรื่องของความไม่แน่นอน เช่น ต้นทุนที่คาดว่าในปีหน้า จะยังปรับขึ้น และยังมีเรื่องของค่าแรง การแข่งขันที่รุนแรง กับสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งเราไม่รู้ว่าหมดอันนี้จะมีอันอื่นหรือไม่ เราจึงก็ต้องระมัดระวังให้มาก สิ่งที่เราทำได้ดีในปีนี้คือ เรื่องของการนำสิ่งที่เรามีอยู่มาบริหารจัดการให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี เช่นเรื่องของโอเปอเรชั่น มีการพูดคุยกับซัพพลายเออร์ให้มากขึ้น”
อย่างไรก็ดีในช่วง 9 เดือน (ต.ค. 2564-มิ.ย. 2565) ธุรกิจอาหารของไทยเบฟ มีรายได้จากการขาย 11,990 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน มีกำไร 1,578 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 104.1% เนื่องจากการฟื้นตัวของการบริโภคภายในร้านอาหาร และการขับเคลื่อนการดำเนินกลยุทธ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความสามารถในการเจาะตลาดและเข้าถึงลูกค้า รวมถึงการพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานของร้านอาหารในกลุ่มธุรกิจอาหาร
โดยในช่วงโควิด-19 บริษัทได้ปรับเพิ่มรูปแบบการให้บริการที่หลากหลายจากเดิมที่เน้นรับประทานในร้าน ทั้งการให้บริการดีลิเวอรี, เทคโฮม ฯลฯ ขณะเดียวกันมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น ทั้งตู้คีออส ทำให้ลูกค้าสามารถสั่งสินค้าได้เอง นอกจากนี้บริษัทยังมีการทดลองนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้ามากยิ่งขึ้น ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาและทดลอง เช่น การตั้งจุดชาร์จรถอีวี ณ ร้านเคเอฟซี ซึ่งคาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า 1-2 สาขา
อย่างไรก็ดีในอนาคตจากความร่วมมือกับกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์หรือนอนแอลกอฮอล์ ที่จะพัฒนาคอมมูนิตี้ มอลล์ขึ้นโดยมีจุดขายเป็น EV Station รวมทั้งมีร้านอาหารในเครือ ไว้คอยให้บริการลูกค้าที่มาชาร์จไฟฟ้าด้วย ซึ่งคาดว่าจะเห็นได้ในปีหน้า รวมทั้งการครอสสินค้าเข้าไปวางจำหน่ายในแชนนอลที่มีอยู่ เช่น การนำเครื่องดื่มโออิชิเข้าไปวางจำหน่ายในร้านเคเอฟซี ซึ่งปัจจุบันมีวางจำหน่ายแล้วกว่า 50 สาขา รวมทั้งการนำเบียร์ช้างกลับมาจำหน่ายในร้านเคเอฟซีอีกครั้งหลังจากที่ช่วงโควิด-19 ทำให้ต้องหยุดบริการไป
ทั้งนี้ในปีหน้าบริษัทยังคงเดินหน้าขยายสาขาเพิ่มอีก 70 สาขา แบ่งเป็นร้านเคเอฟซี 35 สาขา ส่วนที่เหลือเป็นร้านอาหารในเครือโออิชิ และร้านอาหารในกลุ่มฟู้ด ออฟ เอเชีย (FOA) จากปีนี้ที่มีการขยายสาขาใหม่เพิ่มขึ้น 45 สาขา รวมทั้งมีการปิดสาขาที่ไม่ค่อยดีจากการเปลี่ยนโซนผู้บริโภครวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดย ณ เดือนกันยายน 2565 ในกลุ่มธุรกิจอาหารมีร้านรวมทั้งสิ้น 725 สาขา เป็นร้านเคเอฟซี 412 สาขา ส่วนที่เหลือเป็นร้านอาหารอื่นๆ
นอกจากนี้บริษัทยังเปิดร้านใหม่ได้แก่ ร้านโออิชิ บิซโทโระ (OISHI BIZTORO) ภายใต้แนวคิดทางเลือกความอร่อยง่ายๆ สไตล์ญี่ปุ่นโมเดิร์น โดยเน้นเมนูอาหารที่คุ้มค่าคุ้มราคาและตั้งอยู่ในสถานที่ ที่ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย, ร้าน Shabu by Oishi ร้านชาบูแบบเลือกสั่งเป็นจาน (A La Carte) ที่นำเสนอวัตถุดิบคุณภาพดีและประสบการณ์ใหม่ๆ, ร้านเรด ล็อบสเตอร์ (Red Lobster) เชนร้านอาหารทะเลชื่อดังสัญชาติอเมริกา ซึ่งเปิดสาขาแรกที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งในปีหน้าบริษัทจะเริ่มเปิดให้บริการแฟรนไชส์ร้านโออิชิ บิซโทโระ ในราคาเริ่มต้นที่ 3 ล้านบาทด้วย
หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,823 วันที่ 2 - 5 ตุลาคม พ.ศ. 2565