Mintel เปิดเผยงานวิจัยพบตลาดความงามมือสองที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย เช่น Twitter และ Instagram เป็นเทรนด์ใหม่ที่สำคัญ ด้วยความต้องการที่เกิดใหม่ของผู้บริโภคในยุคนี้ มีความต้องการซื้อสินค้าโดยไม่ต้องการจ่ายเต็มราคา ทำให้ผู้บริโภคชาวไทยคิดเป็นร้อยละ 22 เต็มใจอย่างยิ่งที่จะซื้อผลิตภัณฑ์ความงามมือสองบนโลกโซเชียล และมองว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับได้แม้จะเสี่ยงต่อความถูกต้องหรืออาจจะได้ของปลอมก็ตาม
ในทางกลับกันผู้บริโภคที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไปในประเทศไทยไม่ชอบเสี่ยงเท่าไหร่นัก ซึ่งผู้บริโภคเหล่านี้เป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการซื้อผลิตภัณฑ์ความงามผ่านช่องทางออนไลน์ ตัวอย่างเช่น 40% ของผู้บริโภคในกลุ่มอายุนี้ ระบุว่าชอบซื้อผลิตภัณฑ์โดยตรงจากทางแบรนด์ และอีกมากกว่าครึ่ง (54%) ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ความงามที่ไม่มีหลักฐานยืนยันทางวิทยาศาสตร์หรือหลักฐานยืนยันถึงประสิทธิภาพ
นายชยภัทร รัชตวิภาสนันท์ ตำแหน่ง Senior Beauty andPersonal Care Analyst, บริษัท Mintel ประเทศไทย เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเป็น 7.1% จึงมีแนวโน้มทำให้ผู้บริโภคทางด้านความงามชาวไทยหาวิธีใหม่ ๆ ในการประหยัดค่าใช้จ่ายเมื่อค่าครองชีพสูงขึ้น นี่คือจุดที่แบรนด์ต่าง ๆ สามารถเพิ่มความไว้วางใจและความสะดวกสบายเพื่อช่วยผู้บริโภค
ตัวอย่างเช่น การเพิ่มขึ้นของตลาดความงามมือสองแม้อาจจะทำให้แบรนด์สูญเสียการขายโดยตรงกับผู้บริโภค แต่ทางแบรนด์สามารถสร้างตลาดกลางที่มาพร้อมกับข้อเสนอพิเศษต่าง ๆ ของผลิตภัณฑ์ความงามที่เป็นที่นิยมในตลาดความงามมือสอง ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยเพิ่มความมั่นใจ รวมทั้งยืนยันได้ถึงคุณภาพให้กับผู้บริโภคที่มีความชื่นชอบในผลิตภัณฑ์นั้น ๆ
ผู้บริโภคเองยังเปลี่ยนพื้นดิจิทัลด้านความงามออกจากสื่อกระแสหลักเดิมไปสู่โซเชียลมีเดีย และ TikTok ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะกับผู้บริโภค Gen Z ที่เป็นผู้บริโภคฐานหลัก ซึ่งแพลตฟอร์มนี้คาดว่าจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แบรนด์สามารถดึงดูดผู้บริโภคได้ด้วยการสร้างคะแนนรีวอร์ดเพื่อดึงดูดและเป็นรางวัลในการซื้อสินค้าให้กับผู้บริโภคในขณะเดียวกัน การใช้ประโยชน์จากช่องทางการค้าผ่านแชต เช่น แอปส่งข้อความจะเป็นกุญแจสำคัญในการยกระดับประสบการณ์การซื้อผ่านช่องทางออนไลน์สำหรับผู้มีอายุ 45 ปีขึ้นไป
สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือประสบการณ์แบบ ‘ไฮบริด’ นั่นก็คือการผสมผสานกันระหว่างการเลือกซื้อสินค้าในช่องทางออฟไลน์และออนไลน์เข้าด้วยกัน โดย 32% ของผู้บริโภคที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป ให้ความสนใจเกี่ยวกับความยืดหยุ่นในการเปลี่ยนหรือคืนสินค้าที่ซื้อผ่านทางช่องทางออนไลน์ได้ที่หน้าร้านหากผลิตภัณฑ์ไม่ตรงกับความคาดหวัง และอีก 31% ในผู้ที่มีอายุระหว่าง 25-34 ปี มองว่าบริการนี้เป็นสิ่งที่ดีเยี่ยม เนื่องจากช่องทางนี้ทั้งสะดวกและยังสามารถช่วยลดความรู้สึกผิดหวังจากการซื้อผลิตภัณฑ์ที่ไม่ตอบโจทย์และลดการเสียเงินเพิ่มที่อาจจะทำให้ผู้บริโภคไม่กล้าซื้อผลิตภัณฑ์ความงามผ่านช่องทางออนไลน์อีกด้วย