ร้านค้าปลีกดั้งเดิมหรือร้านโชห่วย ที่เปิดขายของตามตรอกซอกซอยเนื้อหอมขึ้นมาทันที เมื่อผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ ต่างเสนอตัวเป็นพันธมิตรให้เงินลงทุน สนับสนุนเทคโนโลยี วิธีบริหารจัดการ แลกกับการเป็นเครือข่ายและจำหน่ายสินค้าให้ ไม่ว่าจะเป็น“คาราบาว กรุ๊ป” กับร้านถูกดีมีมาตรฐาน “โลตัส” กับร้านนี้ขายดี รวมถึง “บิ๊กซี” กับร้านนี้โดนใจ
ทำให้ “แม็คโคร” ที่เดินหน้าสร้างฐานลูกค้าร้านโชห่วย ด้วยแนวคิด “มิตรแท้โชห่วย” มากว่า 10 ปี จนมีฐานสมาชิกร้านโชห่วยกว่า 5 แสนร้านค้า ต้องลุกขึ้นมาสร้างแบรนด์ “บัดดี้มาร์ท” โมเดลค้าปลีกใหม่ ที่จะพลิกโฉมโชห่วยสู่ร้านสะดวกซื้อของชุมชนที่เริ่มเผยโฉมให้เห็นแล้ว 25 สาขา
นายเอกพล คูสุวรรณ ผู้จัดการโครงการบัดดี้มาร์ท บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากการศึกษาตลาดพบว่า พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงหันไปใช้จ่ายในร้านค้าสมัยใหม่ อย่างเช่นร้านสะดวกซื้อมากขึ้น ทำให้ร้านค้าดั้งเดิมหรือโชห่วยต้องปรับตัวนำเสนอสินค้าและบริการให้ทันกับยุคสมัยและพฤติกรรมของลูกค้า เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและความสามารถในการกู้เงินจากแหล่งทุนต่างๆ รวมทั้งประสิทธิภาพในการบริหารจัดการร้านค้าด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่
ทั้งนี้ที่ผ่านมาจะเห็นว่าร้านโชห่วยไม่ได้ล้มหายตายจากไป สัดส่วนยอดขายของโชห่วยเองก็ไม่ได้ลดลง แต่มีการเติบโตขึ้น 30-35% ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ โดยช่วงโควิด ที่ผ่านมามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐเช่น คนละครึ่ง บัตรสวัสดิการแห่งรัฐหลายๆ อย่างมีผลต่อยอดขายหรือการเติบโตของร้านโชห่วย ขณะเดียวกันเรื่องของสภาวะเศรษฐกิจทำให้ร้านโชห่วยมีจำนวนเพิ่มขึ้น เพราะคนต้องการมีแหล่งรายได้ที่ 2 แต่ต้องยอมรับว่าร้านโชห่วยปรับตัวช้า ปรับตัวไม่ทันเป็นเรื่องจริง จากหลายองค์ประกอบและอุปสรรครวมทั้งไม่มีผู้สืบทอดกิจการเพราะรุ่นลูก รุ่นหลานมองว่าโชห่วยไม่มีอนาคต
“โจทย์สำคัญคือทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่อยากมาทำกิจการโชห่วยต่อ ก็ต้องทำร้านให้ทันสมัยและทำให้ลูกหลานเชื่อว่าโชห่วยจะเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญ”
การพัฒนาโมเดล “บัดดี้มาร์ท” จึงเป็นทางเลือกหนึ่ง โดยได้พันธมิตรทางด้านเงินทุน สินค้าที่สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันมากกว่า 2 หมื่นรายการ นอกเหนือจากนี้จากการที่แม็คโครทำงานคลุกคลีกับโชห่วยมานานทำให้สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้ตอบโจทย์ ซึ่ง Big Data เป็นส่วนสำคัญที่แม็คโครมีและสามารถนำมาเป็นประโยชน์ให้กับคู่ค้าบัดดี้มาร์ทได้
“โชห่วยกินสัดส่วน 45-47% ของตลาดค้าปลีกไทย เราจึงให้ความสำคัญกับโชห่วยและคู่ค้าของโชห่วย เรารู้ว่า เราเก่งอะไร จุดใดที่เราไม่เก่ง เรามีพันธมิตรมาช่วยเสริม และดูว่าร้านโชห่วย แต่ละร้านเก่งอะไรแล้วมาทำงานร่วมกัน”
โดยร้านโชห่วยที่จะเปลี่ยนร้านค้าเป็น “บัดดี้มาร์ท” จะต้องใช้เงินลงทุนเริ่มต้น 4 แสนบาท (ช่วงโปรโมชั่นได้รับส่วนลด 2 แสนบาท จนถึงสิ้นปีนี้ จำนวน 300 ร้านค้าแรกที่เข้าร่วมโครงการ) และแม็คโครจะลงทุนให้ 1.5 ล้านบาท สำหรับวางระบบต่างๆ อาทิ ระบบ POS ระบบบริหารจัดการร้าน อุปกรณ์ชั้นวาง ตู้แช่ และสินค้าทั้งหมดภายในร้าน
“พันธมิตรที่เข้าร่วมเป็นซัพพลายเออร์ชั้นนำที่ให้การสนับสนุนสินค้าราคาดี คุ้มค่ามากกว่า 2 หมื่นรายการ พร้อมโปรโมชั่นที่ดึงดูดลูกค้า สร้างทราฟฟิกให้ร้าน รวมถึงมีสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ โดยร่วมกับธนาคารกรุงเทพ ปล่อยสินเชื่อโดยสามารถกู้ได้สูงสุด 100% ของมูลค่าการลงทุน มีระยะเวลาการผ่อนชำระสูงสุดนาน 5 ปี พร้อมสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษสำหรับผู้ประกอบการบัดดี้มาร์ท”
นายเอกพล กล่าวอีกว่า ในสิ้นปี 2566 คาดว่าจะมีร้านบัดดี้มาร์ทเปิดให้บริการ 2,000 ร้านค้า จากปัจจุบันที่มีอยู่ 25 ร้านค้าและอยู่ในระหว่างการเซ็นสัญญาปรับปรุงร้านอีกกว่า 200 ร้านค้า และคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะมีร้านค้าราว 300 ร้านค้า โดยโฟกัสไปที่ภาคกลางและภาคอีสานบางส่วน เพราะเป็นภาคที่มีร้านโชห่วยมากที่สุด และมีการเติบโตสูง โดยปัจจุบันร้านโชห่วยที่เป็นสมาชิกของแม็คโครราว 5 แสนราย อยู่ในภาคอีสานกว่า 1 แสนราย อย่างไรก็ดีหลังร้านโชห่วยเปลี่ยนมาเป็นบัดดี้มาร์ท มียอดขายเติบโตเฉลี่ย 40%
การแจ้งเกิดร้าน “บัดดี้มาร์ท” พร้อมอัดฉีดโปรโมชั่นเต็มสตรีม โดยมีพี่ใหญ่อย่างแม็คโครเป็นแบ็กอัพ เชื่อว่าศึกชิงโชห่วยครั้งนี้ดุเด็ดเผ็ดมันแน่นอน