นายเลสเตอร์ ตัน ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดสายธุรกิจเบียร์ประเทศไทย บริษัท ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า ตลาดเบียร์ในช่วงโควิด 2 ปีที่ผ่านมาตลาดค่อนข้างเติบโตลดลงมาก แต่หลังจากเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาตลาดเบียร์มีการ เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยสัดส่วนใหญ่ยังเป็นตลาดเบียร์ขวดหรือเบียร์กระป๋อง ขณะที่สัดส่วนของเบียร์สดยังน้อยมากในเมืองไทย
"แบรนด์ช้าง เราต้องการสร้างสื่อสารและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆในท้องตลาด ปี 2015 เราเปลี่ยนเบียร์สตรีมขวดน้ำตาลเป็นขวดเขียว เมื่อ 5 ปีก่อนเราได้ล๊อนซ์ช้างโคลด์บรู และเมื่อ 2 ปีก่อนเราออกช้างเอสเพรสโซ่ และปีนี้เราล๊อนซ์ ช้างอันพาสเซอร์ไรด์ เพราะเรารู้สึกว่าผู้บริโภครุ่นใหม่ๆรู้สึกตื่นเต้นเมื่อมีอะไรใหม่ๆออกมาตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้ผู้บริโภคกลุ่มนี้ก็ยังอยู่กับเราและผู้บริโภคกลุ่มใหม่ๆก็เข้ามา"
สำหรับ“ช้าง อันพาสเจอไรซ์” เป็นนวัตกรรมเบียร์รูปแบบใหม่ที่ใช้นวัตกรรมการผลิตที่ไม่ผ่านความร้อน (Unpasteurized) เพื่อคงความหอมและสดใหม่อันเป็นเอกลักษณ์ และใช้กระบวนการไนโตรจิเนชัน (Nitrogination) เพื่อให้อณูฟองที่ละเอียดและนุ่ม ในการกระจายสินค้าจะใช้การขนส่งพิเศษระบบโคลด์เชน (Cold Chain) ควบคุมอุณหภูมิให้ไม่เกิน 4 องศาเซลเซียส ตลอดการขนส่งตรงจากโรงงานกำแพงเพชร ถึงร้านอาหารและโรงแรมในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย ภายในเวลา 4 - 6 ชั่วโมง เพื่อคงความสดใหม่และรสชาติ
นอกจากกระบวนการผลิตและการขนส่งที่เป็นหนึ่งเดียวของเบียร์ในประเทศไทยแล้ว “ช้าง อันพาสเจอไรซ์” ยังให้ความสำคัญในการอบรมพนักงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลเก็บรักษา การออกแบบตู้เย็นและอุปกรณ์การเสิร์ฟเบียร์ให้กับร้านอาหารและโรงแรม เพื่อเก็บรักษาคุณภาพของเบียร์ “ช้าง อันพาสเจอไรซ์” ให้คงความสดใหม่และบรรจุภัณฑ์ขวดทรงแชมเปญพรีเมียมสีเขียวขนาด 1.5 ลิตร
โดยจะวางจำหน่ายในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายเท่านั้นเพราะเป็นจังหวัดยุทธศาสตร์ของเบียร์ช้างที่เป็นเจ้าตลาด ส่วนอนาคตมีการเติบโตทางด้านยอดขายและส่วนแบ่งการตลาดเป็นที่น่าพอใจอาจมีการขยายการจัดจำหน่ายไปยังจังหวัดอื่นเพิ่มเติม
"เชียงใหม่ เชียงรายและภาคเหนือทั้งภาคเป็นบ้านของเบียร์ช้าง ผู้บริโภคโดยเฉพาะคนกลุ่มใหม่ๆตอบรับกับสินค้าใหม่ๆของช้างมาโดยตลอด และกิจกรรมการตลาดที่เราทำในภาคเหนือก็ล้วนแล้วแต่ประสบความสำเร็จทั้งสิ้น และเรามีโรงงานผลิตเบียร์ที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งอยู่ในภาคเหนือเช่นเดียวกันและโรงงานกำแพงเพชรมีเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงซึ่งเหมาะสมที่จะผลิตเบียร์ตัวใหม่
ที่สำคัญเชียงใหม่ เชียงรายไม่ได้ไกลจากกำแพงเพชรมากสามารถจัดส่งได้ภายใน4-6ชม. และโคลด์เชนมีต้นทุนในการจัดการค่อนข้างสูงเราจึงนำร่อง 2 จังหวัดเป็นหัวเชื้อหลังจากนั้นจะขยายไปจังหวัดอื่นในอนาคต"
ทั้งนี้ผลประกอบการของไทยเบฟ ในปี 2565 บริษัทสร้างรายได้จากการขายรวม 272,359 ล้านบาท เติบโต 13.2% และมี “กำไรสุทธิ” 34,505 ล้านบาท เติบโต 26.2% โดยสัดส่วนยอดขายของธุรกิจเบียร์ยังคงสัดส่วนมากที่สุด45% ตามด้วยสุรา 42.7% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 6.4% และอาหาร 6% แต่ในส่วนของกำไร กลุ่ม “สุรา" ครองสัดส่วนสูงสุด 71.9% ตามด้วยเบียร์ 25% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 1.9% และอาหาร 1.2% เท่านั้น
ขณะที่ข้อมูลจากนีลเส็นระบุว่า ตลาดเบียร์ในประเทศไทยมูลค่าแตะ 110,000 ล้านบาทเติบโต 8% ถ้าเทียบกับปีที่ผ่านมาโดยมีปัจจัยบวกคือการเปิดประเทศและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด