สหประชาชาติ ได้กำหนดกฎบัตรด้านอุตสาหกรรมแฟชั่น (Fashion Industry Charter for Climate Action) ขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาของอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และตั้งเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแฟชั่นให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 หรือ ปีพ.ศ. 2593
ส่งผลให้ปัจจุบันผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแฟชั่นและเสื้อผ้ามีความพยายามผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความยั่งยืน (Sustainability) ให้กับธุรกิจจนเกิดกระแส Eco Fashion หรือ Sustainable Fashion เช่น การใช้ใยผ้าที่ทำมาจากวัสดุรีไซเคิล 100% รวมทั้งวัสดุออแกนิกส์และตั้งเป้าที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดซัพพลายเชนลง 30% ภายในปี ค.ศ. 2030 หรือ ปี พ.ศ. 2573
ล่าสุดในมหกรรมฟุตบอลโลก 2022 ผลิตภัณฑ์ Eco Fashion เข้ามามีบทบาทอย่างมากในรูปแบบของเสื้อนักกีฬาที่ผลิตขยะพลาสติกริมชายหาด นอกจากนี้แบรนด์ Adidas ยังผลิตเสื้อกีฬาที่ใช้ในการแข่งขัน FIFA World Cup 2022 ให้กับ 5 ทีมชาติ ได้แก่ อาร์เจนตินา เยอรมนี ญี่ปุ่น เม็กซิโกและสเปน โดยผลิตจากขยะพลาสติกที่เก็บจากท้องทะเล เกาะต่างๆ ชายหาดและพื้นที่ชุมชนตามแนวชายฝั่งถึง 50%
สำหรับประเทศไทยเริ่มมีผู้ประกอบการแบรนด์เสื้อผ้าหันมาให้น้ำหนักกับ Circular Fashion หรือแฟชั่นหมุนเวียนนี้เช่นกันหนึ่งในนั้นคือ “วอริกซ์ สปอร์ต” ซึ่งปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เสื้อรีไซเคิลกว่าหมื่นตัวและตั้งเป้าการผลิตให้ได้ถึงหลักล้านตัวในอนาคตอันใกล้
นายวิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วอริกซ์ สปอร์ต จำกัด (มหาชน) หรือ WARRIX เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า วอริกซ์ได้ขยายธุรกิจจากคำว่าสปอร์ตแวร์ไปสู่ Health Active Lifestyle และมีเป้าหมายสร้างความเติบโตได้อย่าง unlimited growth หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญคือ เรื่อง SDGs ผ่านการพัฒนาเสื้อรีไซเคิลและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
โดยเริ่มผลิตเสื้อรีไซเคิลครั้งแรกให้กับสโมสรฟุตบอลสุพรรณบุรี และเสื้อวิ่งงานมาราธอนของสุพรรณบุรี ในระยะแรกมีการผลิตหลักพันตัวและขยายเป็นหลักหมื่นตัวก่อนจะเบรกการผลิตในช่วงโควิดที่ผ่านมาเนื่องจากต้นทุนเส้นด้ายที่เกิดจากการรีไซเคิลแพงกว่าเส้นด้ายปกติถึง 30% ในขณะที่บริษัทไม่สามารถปรับขึ้นราคาสินค้าได้
อย่างไรก็ตามหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลายในช่วงปลายปี 2564 บริษัทเริ่มรื้อฟื้นโครงการ เสื้อรีไซเคิล ขึ้นมาอีกครั้ง โดยเริ่มเข้าไปศึกษาและสำรวจโรงงานที่ผลิตสินค้าให้กับบริษัท พบว่าทุกโรงงานมีเศษผ้าที่เหลือจากการผลิตเสื้อและสามารถนำเศษผ้าไปย่อยสลายเพื่อผลิตเป็นเส้นด้ายและนำมาผลิตเสื้อได้กว่า 1.3 ล้านตัวและหากใช้กระบวนการย้อมสีเป็นสีดำ โดยไม่ใช่น้ำจะเกิดคาร์บอนเครดิตที่เป็นบวกอีกจำนวนมาก และประหยัดน้ำรวมทั้งไม่เกิดน้ำเสีย อีกด้วย
“เสื้อรีไซเคิล ซึ่งเป็นโครงการที่เราตั้งใจนำเศษผ้าที่เหลือจากกระบวนการตัดเย็บและสามารถนำมาผลิตเสื้อได้อีก 1 ล้านตัวมาทำการขายและสร้างความยั่งยืนในเรื่องของการนำของเหลือกลับมาทำเป็นเสื้อ หรือแม้แต่การนำเสื้อเก่ามารีไซเคิลเป็นเสื้อใหม่ ซึ่งเร็วๆ นี้เราจะมีโครงการ “ตั้งตู้” รับเสื้อเก่ามาทำเป็นเสื้อใหม่ เช่น ยูนิฟอร์มบริษัทเดิม ชุดนักเรียนโรงเรียนเดิม เสื้อฟุตบอลสโมสรเดิม นำกลับมาเป็นเสื้อยูนิฟอร์ม เสื้อฟุตบอลสโมสรใหม่ในปี 2566”
ปัจจุบันบริษัทได้เตรียมงบสำหรับการพัฒนา Circular Fashion โดยเฉพาะเนื่องจากโมเดลดังกล่าวเกิดขึ้นแล้วในยุโรปแต่ในภูมิภาคนี้ยังไม่มีคนที่ทำจริงจัง “วอริกซ์ ” จึงต้องการเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่ทำจริงจังในเรื่องนี้ และตั้งเป้าว่าจะขยายการผลิตจากหลักหมื่นตัวไปเป็นหลักล้านตัวให้ได้เร็วที่สุด ซึ่งจะต่อยอดจากการพัฒนาเสื้อโพลีเอสเตอร์ที่วอริกซ์กำลังทำอยู่ไปสู่เสื้อผ้าคอตตอน เนื่องจากปัจจุบัน “วอริกซ์ ” กำลังมูฟตัวเองไปสู่การเป็น Lifestyle Fashion โดยใช้เส้นใยที่มาจากวัสดุที่เหลือจากการผลิตในโรงงานและการเกษตรด้วย
“ในส่วนของเสื้อรีไซเคิลเราทำในลักษณะของการผลิตตามโปรเจ็กต์หรือ B2B ซึ่งเราเชื่อว่าบริษัทใหญ่ๆที่มีโครงการและมีนโยบายที่เกี่ยวกับความยั่งยืนให้ความสำคัญมากในเรื่องนี้ จากการสำรวจพบว่าบริษัทใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ทุกบริษัทให้ความสนใจหมด และเรากำลังทำแคมเปญเก็บขยะและนำขวดพลาสติกมาทำเสื้อจริงๆ ไม่ใช่ผักชีโรยหน้า เบื้องต้นเราลงไปคุยกับโรงเรียนเรื่องการสอนแยกขยะ และการเปลี่ยนขวดพลาสติกเป็นเส้นใย แต่ตอนนี้ยังต่อยอดไม่ครบแวลูเชนแต่เรากำลังพยายามทำให้ครบ เรื่องนี้เป็นวาระสำคัญของปีนี้ ตั้งแต่ปีใหม่มาเราแสวงหาความร่วมมือรอบด้านทั้ง 360 องศา
โดยภายในปีนี้จะมีการนำคอลเลคชั่นรีไซเคิลไปวางจำหน่ายในฝั่งของ B2C อย่างแน่นอน แม้ว่าต้นทุนจะสูงขึ้น แต่จะมีการต่อรองกับผู้ผลิตและซัพพลายเออร์ในการชดเชยต้นทุนในวัสดุที่ปรับตัวสูงขึ้นในปีนี้กับต้นทุนที่มีการปรับลดลงจากปีก่อนที่ปรับตัวสูงขึ้นไประดับหนึ่ง จากค่าเงินบาทและราคาน้ำมัน เพื่อไม่ให้ราคาขายเป็นภาระให้กับผู้บริโภคมากเกินไป”
หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,852 วันที่ 12 - 14 มกราคม พ.ศ. 2566