ดึง BCG ปิดจบปัญหาขยะแฟชั่น พลิกอุตสาหกรรม Fast Fashion สู่ความยั่งยืน

05 ม.ค. 2566 | 05:38 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ม.ค. 2566 | 13:12 น.

‘BCG’ ทางออก ‘อุตสาหกรรม Fast Fashion’ ในอนาคตตอบโจทย์ผู้บริโภคและผู้ประกอบการในการสร้างความยั่งยืน (Sustainability)หลังผู้บริโภครุ่นใหม่เทใจ แฟชั่นหมุนเวียน หนุนตลาดเสื้อผ้ามือสองโตแซง Fast Fashion มากถึง 2 เท่า

ในอดีตอุตสาหกรรม Fast Fashion เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง สร้างยอดขายให้อุตสาหกรรมเสื้อผ้าได้อย่างมหาศาล ขณะที่เสื้อผ้าจะสวมใส่แค่ไม่กี่ครั้งแล้วถูกทิ้งไปอย่างรวดเร็ว เพื่อจะได้ตามแฟชั่นคอลเลคชันใหม่ที่อินเทรนด์กว่าอย่างรวดเร็ว

ดึง BCG ปิดจบปัญหาขยะแฟชั่น พลิกอุตสาหกรรม Fast Fashion สู่ความยั่งยืน

ผลที่ตามมาคืออุตสาหกรรม Fast Fashion เป็นตัวการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามากกว่า 1.2 พันล้านตันต่อปี หรือคิดเป็นสัดส่วนถึงประมาณ 8 - 10 % ของอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลก ซึ่งเป็นตัวเลขการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มากกว่าอุตสาหกรรมการเดินเรือและการบิน เท่านั้นยังไม่พอ อุตสาหกรรมดังกล่าว ยังใช้น้ำจำนวนมหาศาลในกระบวนการผลิต และเป็นตัวการปล่อยน้ำเสียและมลพิษมากมายเกือบ 20 % ของปริมาณน้ำเสียทั่วโลกออกสู่สิ่งแวดล้อมอีกด้วย

 

แต่ปัจจุบันผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแฟชั่นจำนวนไม่น้อย ที่พยายามหันมาเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความยั่งยืน (Sustainability) ให้กับธุรกิจ จึงเกิดเป็นกระแส Eco Fashion หรือ Sustainable Fashionทั้งนี้ จากข้อมูลที่น่าสนใจของบริษัท Thredup ซึ่งเป็นร้านค้าออนไลน์มือสองขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ได้คาดการณ์ว่า อีก 10 ปี ข้างหน้า มูลค่าตลาดของเสื้อผ้ามือสองจะมีมูลค่าสูงกว่า Fast Fashion มากถึง 2 เท่า

 

เนื่องจากเทรนด์การบริโภคที่มีแนวโน้มเปลี่ยนไป ทั้งจากปัญหา Fast Fashion รวมไปถึงการที่คนรุ่นใหม่ ๆ เริ่มตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม สนใจแฟชั่นแบบหมุนเวียนมากขึ้น ซึ่งแนวโน้มของผู้บริโภคเปิดใจต่อการซื้อเสื้อผ้ามือสองเพิ่มมากขึ้นในทุก ๆ ปี  จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ที่สนใจธุรกิจเสื้อผ้ามือสอง ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมาก

 

 

ในมหกรรมฟุตบอลโลก 2022 เสื้อนักกีฬาทำมาจากขยะพลาสติกริมชายหาด หนึ่งในบริษัทที่น่าสนใจ ในการนำแนวทาง Circular Fashion แฟชั่นหมุนเวียน คือ การนำขยะพลาสติกหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งในปัจจุบันมีหลายแบรนด์เริ่มนำโมเดล BCG มาใช้ เช่น เสื้อนักกีฬา ‘ฟุตบอลโลก 2022’  ของ Adidas ที่ใช้ในการแข่งขัน FIFA World Cup 2022 ทำมาจากขยะพลาสติกที่เก็บจากท้องทะเลและเกาะต่าง ๆ บริเวณชายหาด และพื้นที่ชุมชนตามแนวชายฝั่งถึง 50 % เลยทีเดียว โดย Adidas ได้ผลิตให้กับ 5 ทีมชาติ ได้แก่ อาร์เจนตินา เยอรมนี ญี่ปุ่น เม็กซิโกและสเปน

 

สำหรับขยะเหล่านี้ได้มาจากโครงการ Parley Ocean Plastic ที่ Adidas ร่วมกับองค์ Parley ก่อตั้งขึ้น เพื่อไม่ให้ขยะพลาสติกเป็นมลพิษในทะเล จึงนำมาใช้ประโยชน์แทน หลักในการรีไซเคิลคือ ผ้า Polyester เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตชุดแข่งกีฬารวมไปถึงชุดแข่งฟุตบอล 

 

นอกจากจะได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ แล้ว การรีไซเคิลขวดพลาสติกยังมีส่วนช่วยในการประหยัดพลังงานได้ เนื่องจากขวดพลาสติกทำมาจากน้ำมันดิบ เมื่อมีการรีไซเคิลขวดพลาสติก 1 ตัน จึงมีส่วนช่วยลดการใช้น้ำมันได้ 3.8 บาร์เรล หรือคิดเป็น 159.11 ลิตร และช่วยประหยัดพื้นที่ในการฝังกลบขยะได้