“เสถียร เสถียรธรรมะ” หรือนามสกุลเดิม “เศรษฐสิทธิ์” ที่หลายคนคุ้นเคยถือเป็นผู้ปลุกปั้น “คาราบาว กรุ๊ป” สร้างแบรนด์คาราบาวแดง จนแจ้งเกิดทั้งในไทยและต่างประเทศ ยังไม่นับรวมถึงธุรกิจโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง กลุ่มสุรา และค้าปลีก ด้วยสายตาอันยาวไกลทำให้ “เสถียร” มีวิธีคิดและมองหาการลงทุนเพื่อต่อยอดธุรกิจใหม่สม่ำเสมอ และในปีนี้ก็เช่นกัน
“เสถียร เสถียรธรรมะ” ประธานกรรมการ บริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด เปิดศักราชปี 2566 ตามสไตล์ผู้ใหญ่ใจดีว่า แม้ในคาราบาว กรุ๊ปจะมีหลายธุรกิจในมือแต่ยังไม่เพียงพอที่จะไปให้ถึงเป้าหมาย “แสนล้าน” เพื่อย่นเวลาให้ไปถึงเป้าหมายเร็วขึ้น ในช่วงปลายปี 2566 นี้บริษัทจะลงทุนใหญ่กว่า 4,000 ล้านบาทในธุรกิจใหม่คือ “เบียร์” มีกำลังการผลิต 400 ล้านลิตรต่อปี
โดยใช้โรงงานชัยนาทเป็นฐานการผลิตใน ทั้งในรูปแบบของขวดและกระป๋อง ในเฟสแรกบริษัทจะเริ่มจากกำลังการผลิต 200 ล้านลิตร เพื่อผลิตเบียร์ในสไตล์เยอรมันตะวันแดง 2-3 รสชาติก่อนพัฒนารสชาติอื่นๆเพิ่มเติมในอนาคต และจะผลิตสินค้าครบทุกเซ็กเมนต์ คาดว่าจะสามารถจำหน่ายออกสู่ตลาดทั่วประเทศได้ในไตรมาส 4 หรือช่วงเดือนตุลาคมเป็นต้นไป
“ตอนนี้เรามีธุรกิจสุราอยู่ในมือทั้ง เหล้าขาว ,วิสกี้, โซจู แม้จะขายได้ทำกำไร แต่โอกาสที่จะเติบโตหรือขยายตัวค่อนข้างยาก เพราะถ้าจะขายสุราจะต้องขายในร้านอาหาร ผับ บาร์ ซึ่งร้านเหล่านี้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ขายได้เยอะที่สุดคือ “เบียร์” เมื่อเราไม่มีเบียร์เวลาที่เข้าไปต่อรองในร้านทำให้เราไม่มีอำนาจต่อรองและสู้คู่แข่งไม่ได้
เบียร์ของเราจะแตกต่างเพราะมีพื้นฐานจาก “โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง” ที่ตอนนี้มีคราฟเบียร์กว่า 10 รสชาติหมุนเวียนไปเรื่อยๆเพื่อทดลองตลาด เบียร์ที่แปลกๆจะทำให้คนเปิดใจลองชิมการที่เราเข้าตลาดเบียร์ก็น่าจะทำให้ตลาดเบียร์กะเพื่อมขึ้น แต่สิ่งที่ค้ำคอและน่าหนักใจคือเราจะขายราคาเท่าไหร่ ส่วนชื่อแบรนด์ยังไม่มีข้อสรุปแต่คาดว่าจะไม่ฉีกจาก “เบียร์เยอรมันตะวันแดง” หรือ “เบียร์คาราบาว” มาก
“เสถียร” บอกว่า ตลาดเครื่องดื่มประเด็นร้อนแรงมากที่สุดในช่วงที่ผ่านมาคือราคาต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก สำหรับธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลัง “คาราบาวแดง” เองอยู่ระหว่างการพิจารณาขึ้นราคาหลังจากยืนราคา 10 บาทมากว่า 20 ปี โดยต้นทุนปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ยประมาณ 25% หลักๆคือน้ำตาล ค่าขนส่ง ค่าไฟ และPackaging โดยเฉพาะขวดที่มีทั้งต้นทุนของอลูมิเนียมและใช้ไฟในการหลอม
นอกเหนือจากการลงทุนใหญ่ในธุรกิจเบียร์แล้ว “เสถียร” บอกว่า อีกหนึ่งธุรกิจที่จะเป็นแรงส่งให้ คาราบาว กรุ๊ป ไปถึงฝันในเร็ววันคือ “ค้าปลีก” สำหรับธุรกิจค้าปลีก CJ Supermarket หรือ CJ Express ในปีนี้บริษัทมีเป้าหมายขยาย 250 สาขาเพิ่มจากปีที่ผ่านมาที่สามารถขยายได้ 240 สาขา ส่วน CJ More มีแผนขยาย 150 สาขา ขณะเดียวกันเริ่มขยายค้าปลีกในรูปแบบใหม่ภายใต้ CJ More บนพื้นที่ 2 ไร่ลักษณะคล้ายๆโมเดิร์นเทรดมีที่จอดรถ มีร้านค้าซึ่งก็จะทำให้บริษัทมียอดขายที่เพิ่มขึ้น
การลงทุนที่เป็นความท้าทายความสามารถในตลาดค้าปลีกชุมชุนหรือ “โชห่วย” อย่าง “ถูกดี มีมาตรฐาน” ในปีนี้นอกจากจากล้างขาดทุนสะสมกว่า 3,000 ล้านบาทคือการพลิกกลับมาทำกำไรเป้าหมาย 4 หมื่นล้านบาทให้ได้ในปีนี้ ผ่านกลยุทธ์การขยายสาขาพาร์ทเนอร์ครบ 8,000 ร้านค้า
“โชห่วยทั่วประเทศน่าจะมีกว่า 3 แสนราย แต่มีไม่เกิน 1 แสนรายที่ทำโชห่วยเป็นอาชีพจริงๆส่วนที่เหลือทำเป็นอาชีพเสริม การที่รายใหญ่ลงมาเล่นตลาดนี้ไม่ได้ทำให้โชห่วย 3 แสนรายหายไป แต่จะทำให้เขาปรับตัว ตอนนี้เรามีพาร์เนอร์เปิดร้าน “ถูกดี มีมาตรฐาน” กว่า 5,000 ราย อย่างน้อยในจำนวนนี้ 1,000 -2,000 ราย เคยอยู่ในเขตเมือง เคยเห็นค้าปลีกสมัยใหม่ เมื่อมาทำร้านกับเราจะเดินไปได้ค่อนข้างดี ส่วนคนที่เคยทำอยู่เดิมก็ต้องค่อยๆปรับตัว”
ปัจจุบันร้าน “ถูกดี มีมาตรฐาน” มีลูกค้าเข้าร้านเฉลี่ยวันละ 150 คนต่อสาขา ค่าใช้จ่ายต่อบิล 100 บาท สำหรับปีนี้คาดว่าจะสามารถขยายจำนวนร้านเป็น 8,000 ร้าน และปี 2567 จะเพิ่มเป็น 1.2 หมื่นร้าน และในปีถัดไปจะเพิ่มเป็น 2 หมื่นร้าน ครอบคลุมภาคเหนือ ภาคกลางและอีสาน
นอกจากนี้ในปีนี้บริษัทยังจะมีการเพิ่มบริการจุดรับ-ส่งพัสดุ คาดว่าน่าจะได้เห็นภายในครึ่งปีแรก รวมไปถึงการพิจราณาให้บริการเคาน์เตอร์เซอร์วิสและตู้ ATM ด้วย เพื่อหารายได้ให้กับพาร์ทเนอร์เพิ่มเติม ปัจจุบันโมเดลของร้าน คือบริษัทลงทุนทั้งอุปกรณ์ ระบบ และสินค้าในร้าน บริษัทจัดส่งสินค้าทุก 3 วันและเข้าไปนับสต๊อกเป็นระยะรวมมูลค่าการลงทุนแต่ละสาขากว่า 1 ล้านบาท
ส่วนพาร์ทเนอร์เจ้าของร้านจะต้องวางเงินประกัน 2 แสนบาท ดูแลการขายและส่งเงินจาการขายในวันถัดไป รายได้หลังหักต้นทุน 85% จะเป็นของร้านค้า และของบริษัท 15% เพราะร้านค้าที่เขาได้เยอะเพราะเขาต้องรับผิดชอบค่าน้ำค่าไฟ และสำคัญคือต้องจ่ายภาษี
“โมเดลร้านค้าปลีก “ถูกดี มีมาตรฐาน” เกิดขึ้นจากการที่เราต้องการแก้ปัญหาของร้านโชห่วยไม่มีเงินทุนในการซื้อสินค้ามาหมุนเวียนและไม่มีองค์ความรู้ในการบริหารจัดการร้านต่างๆ ธุรกิจของเราจะโตได้ก็ต่อเมื่อร้านที่มาเปิดขายดี เราก็จะมีส่วนแบ่งจากรายได้นั้น แต่ตอนนี้ยอมรับว่าเรายังขาดทุนกว่า 3,000 ล้านบาทจากร้านค้าที่เปิดไป และเกเร ไม่ทำตามสัญญาบางรายมีกรณีพิพากเป็นคดีความ มีการปิดร้านลง
ถ้าปีนี้เราสามารถเปิดร้านครบ 8,000 ร้านตามแผนในปีหนึ่งเราจะทำยอดขายได้ 6 ล้านบาทต่อสาขา รายได้รวมประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเราเชื่อว่าด้วยไซส์และสเกลขนาดนั้นภายในเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคมปีนี้เราน่าจะไม่ขาดทุนแล้ว”
“เสถียร” บอกเพิ่มเติมว่า “เป้าหมายรายได้ “แสนล้าน” ของคาราบาว กรุ๊ปน่าจะเป็นไปได้ไม่ยาก เพราะถ้านับยอดขายของ CJ และร้านถูกดี มีมาตรฐาน รวมกันน่าจะเกือบ 8 หมื่นล้านบาท ธุรกิจสุราอีก 1 หมื่นล้านบาท ถ้าเบียร์ออกสู่ตลาดได้ตามแผนน่าจะทำรายได้อีกเกือบหมื่นล้านบาท ปีนี้น่าจะเห็น 1 แสนล้านบาทได้
เพราะเบียร์มีมูลค่าสูงและตามกำลังการผลิตของเราน่าจะทำรายได้ 3-4 หมื่นล้านบาทไม่ยาก ตอนนี้จุดยากของการทำเบียร์คือการตั้งชื่อแบรนด์เพราะขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการจับตลาดไหน ถ้าเราเกรดดีต้นทุนก็แพง แต่ถ้าขายแพงก็จะขายได้จำนวนน้อย แต่ถ้าขายถูกอาจจะไม่มีกำไรก็ต้องอาศัยจำนวนเข้ามาช่วย ส่วนตลาดต่างประเทศปีนี้จะเปิดตัว คาราบาวแดงที่เวียดนามอย่างเป็นทางการ”
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,857 วันที่ 29 มกราคม - 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566