อุตสาหกรรมโฆษณาปี 2566 ยังต้องลุ้น ปิดงบ 2 เดือนแรกตลาดยังไม่ซึมจากปัจจัยลบรอบตัว ลุ้นเม็ดเงินสะพัดจากพรรคการเมืองช่วงก่อนเลือกตั้ง-ภาคการท่องเที่ยวฟื้นช่วยเติมเม็ดเงินเข้าระบบ คาดทั้งปีปิดตัวที่ 85,700 ล้านบาท เติบโต 5%
นายภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท มีเดียอินเทลลิเจนซ์ จำกัด เปิดเผยว่า สำหรับบรรยากาศการใช้จ่ายในอุตสาหกรรมโฆษณา 2 เดือนที่ผ่านมาโดยรวมยังซึมตัวเลขคาดการณ์จากนีลเส็นประเมิณว่าตลาดติดลบ 10% ขณะที่ประเมินของ MI Group มอง 2 เดือนที่ผ่านมาปัจจัยลบยังคงมีอย่างต่อเนื่องจากปีที่แล้วทั้ง GDP ไม่เป็นไปตามคาดการณ์ ของแพง ค่าครองชีพสูงและหนี้ครัวเรือนสูงทำให้อุปสงค์ต่ำ
อย่างไรก็ตามในมุมของนักการตลาด ยังมองว่าอุตสาหกรรมสื่อยังพอมีปัจจัยบวกบ้าง เช่น จำนวนนักท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมาเยอะ โดยททท.คาดการณ์ว่าปีนี้ตัวเลขนทท. อาจจะขึ้นไปถึง30 ล้านคนได้ไม่ยาก อีกปัจจัยคือผู้คนเริ่มไม่กลัวโควิด กิจกรรมต่างๆกลับมาจัดอีกครั้งรวมทั้งการเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นแรงหนุนให้เกิดการทำกิจกรรมต่างๆ ของนักการเมืองหรือฐานเสียงที่จะเข้มข้นขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวแปรเรื่องเงินในระบบ
โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคมที่อุปสงค์ภายในประเทศน่าจะกลับมา และทำให้เม็ดเงินไหลเข้าไปสะพัดในระบบไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการท่องเที่ยวที่ไม่เพียงธุรกิจโรงแรม หรือสายการบินจะได้รับอานิสงส์ แต่เหมารวมไปทุก Sector ที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม ประกอบกับนักการตลาดยังต้องทำการตลาดมากขึ้นเพื่อการแย่งเม็ดเงินโฆษณา ซึ่งMI Group คำนวณออกมาว่าปีนี้เม็ดเงินโฆษณาน่าจะเติบโตต่อได้ 5% หรือประมาณ 85,700 ล้านบาท จากปีที่แล้วที่บวก+ 7.6% หรือ 8.2 หมื่นล้านบาท
โดยอุตสาหกรรมที่จะมีเม็ดเงินโฆษณาคึกคักสูงสุดได้แก่ ยานยนต์ โดยเฉพาะยานยนต์พลังงานสะอาด (EV, HEV, PHEV) แม้ว่าปัจจุบันจะเติบโตเพียง1% แต่ในปีนี้อาจจะเติบโตขึ้นเป็น 2-3%เพราะมีความคึกคักของตลาด และอีกเซกเมนต์ที่จะกลับมาเติบโตคือรถยนต์เชิงพาณิชย์จากการที่หลายธุรกิจกลับมาเปิดบริการทำให้ความต้องการใช้รถยนต์ในเชิงพาณิชย์หรือรถกระบะสูงขึ้น รวมไปถึงเซกเมนต์ของรถจักรยานยนต์ด้วย โดยคาดว่าเม็ดเงินปีนี้จะสะพัดมากกว่า 5,800 ล้านบาท
อุตสาหกรรมต่อมาคือ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับหมวดงานอีเว้นท์กิจกรรม คอนเสิร์ต งานแสดงสินค้า ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่อั้นมานานจากช่วงโควิด จากการเริ่มกลับมาจัดงานอีเวนต์ ไลน์อัพคอนเสิร์ตแน่นตลอดทั้งปีรวมทั้งงานแสดงสินค้าต่างๆที่เคยแผ่วไปในช่วงโควิดจะกลับมาจัด เพราะการช้อปปิ้งออนไลน์หรือการจัดงานแบบ Virtual ไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการของคนทั้งหมด เม็ดเงินปีนี้คาดการณ์ว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาท เติบโตจากปี2565ที่ตัวเลขการ spending เพื่อโปรโมทงานไม่ถึง 500 ล้านบาท
อันดับ 3 E commerce ที่ยังคงฮอตต่อเนื่องเพราะวิถีชีวิตคนเปลี่ยนไป โดยเฉพาะในกลุ่มMarket Place, ที่ยังต้องการการโฆษณาอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึง E commerce ของกลุ่มเดินทาง&ท่องเที่ยว, รถยนต์มือสอง, ประกัน, ดีลและส่วนลดพิเศษ เพราะคนอยากออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้นโดยคาดว่าเม็ดเงินโฆษณาน่าจะสะพัดประมาณ 1,800 ล้านบาท
ส่วนอันดับ 4 และอันดับ 5 ยังคงแรงต่อเนื่องจากการขับเคลื่อนของหมวดสุขภาพ โดยอาหาร เครื่องดื่ม และบริการ โดยเฉพาะกลุ่มเพื่อสุขภาพและความงาม น่าจะมีเม็ดเงินรวมปีนี้มากกว่า 9,800 ล้านบาทครองแชมป์เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดในปีนี้ ส่วนผลิตภัณฑ์ในหมวดความสวยและความงาม น่าจะมีเงินรวมปีนี้มากกว่า 9,300 ล้านบาท
ส่วนหมวดสินเชื่อโดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลที่เคยคึกคักมากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาในปีนี้น่าจะแผ่วลงจากภาวะหนี้ครัวเรือนของไทยที่พุ่งสูงแตะ 90% ของ GDP จากการที่หนี้ส่วนบุคคลเต็มวงเงินและความสามารถในการชำระหนี้ต่ำทำให้เกิดหนี้เสียของ NPL สูงแตะ 4.4% ในปีที่ผ่านมา