ปฏิเสธไม่ได้ว่า อุตสาหกรรม Fast Fashion เป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างรวดเร็ว มีกระบวนการ ผลิตที่รวดเร็ว ใช้ต้นทุนต่ำ ทำให้ราคาไม่แพง เข้าถึงได้ง่าย สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่สวมใส่ตามกระแสนิยมไม่กี่ครั้งและถูกทิ้งไปอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดขยะเสื้อผ้ามากมาย
ทำให้อุตสาหกรรม Fast Fashion เป็นตัวการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 1.2 พันล้านตันต่อปี หรือ8-10 % ของอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลก ซึ่งมากกว่าอุตสาหกรรมการเดินเรือและการบิน ขณะเดียวกัน ยังใช้น้ำจำนวนมหาศาลในกระบวนการผลิต และปล่อยน้ำเสียและมลพิษเกือบ 20 % ของปริมาณน้ำเสียทั่วโลกออกสู่สิ่งแวดล้อมอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันผู้บริโภคหันมาใส่ใจเรื่องความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เป็นแรงหนุนให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแฟชั่นหันมาเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยแฟชั่นแบบหมุนเวียน จนเกิดเป็นกระแส Eco Fashion หรือ Sustainable Fashion ทั้งการนำวัสดุรีไซเคิลมาทำเป็นเสื้อผ้าใหม่ การให้เช่าและขายเป็นเสื้อผ้ามือสอง
ข้อมูลจาก Thredup บิ๊กร้านค้าออนไลน์มือสองในสหรัฐอเมริกาคาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดของเสื้อผ้ามือสองจะมีมูลค่าสูงกว่า Fast Fashion มากถึง 2 เท่า ใน 10 ปีข้างหน้า โดยมีปัจจัยหนุนคือเทรนด์การบริโภคที่มีแนวโน้มเปลี่ยนไป ปัญหา Fast Fashion ไปถึงการที่คนรุ่นใหม่ๆ ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม สนใจแฟชั่นแบบหมุนเวียนมากขึ้น ทำให้เปิดใจต่อการซื้อเสื้อผ้ามือสองเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปี
นายอริยะ จิรวรา Co-Founder of SOS Group & Head of CYCLE by SOS เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันประเด็นโลกร้อนทำให้คนตระหนักเรื่องการใช้สิ่งของที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการใช้สินค้า Fast Fashion ที่เป็นหนึ่งในสาเหตุทำลายโลกจากการใช้สารเคมี น้ำยาฟอกปริมาณมากในกระบวนการผลิต
ขณะเดียวกันพฤติกรรมผู้บริโภคไทยเองเริ่มมีทัศนคติที่ดีในการใช้สินค้ามือสองมากขึ้น นอกจากการตระหนักเรื่องปัญหาขยะแฟชั่นและสภาพของสินค้าที่ยังใช้งานได้ดีราคาจับต้องได้ แล้วสินค้ามือสองบางชิ้นยังเป็นแรร์ไอเทมหรือ limited edition ที่คนตามหาเพื่อเก็บสะสม
ในปีที่ผ่านมา SOS Group ได้เปิดตัวธุรกิจใหม่ Cycle by SOS ร้านขายสินค้า Resale แหล่งรวมไอเทมมือสอง เพื่อเป็นตัวกลางในการซื้อขายสินค้าแฟชั่นมือสองอย่างจริงจัง โดยการฝากขาย Seller มีหน้าที่ 2 อย่างคือ ซักเสื้อผ้าให้สะอาดเรียบร้อย และแจ้งราคาขายแต่ละตัวและส่งมาที่ร้าน หลังจากนั้น Cycle จะทำในส่วนของการรีดผ้า ขึ้นหุ่นเพื่อถ่ายแบบ พนักงานขายดูแลหน้าร้าน แพ็กสินค้าและจัดส่งสำหรับออร์เดอร์ออนไลน์ โดย Seller จะได้รับเงินจากการขายทุกสิ้นเดือน ส่วนทางร้านจะมีรายได้จากค่า GP
“Cycle by SOS เกิดขึ้นจากปัญหาของผู้บริหาร SOS ที่มีเสื้อผ้าเยอะ จึงคิดว่าน่าจะมีที่ไว้สำหรับปล่อยเสื้อผ้า เพราะทุกวันนี้ยังไม่มีที่ให้ปล่อยเสื้อผ้าขายเลย จึงเกิดเป็นแนวคิด “เปลี่ยนตู้เสื้อผ้าให้เป็นเงิน” โมเดลนี้ Cycle by SOS จะเป็นตัวกลางที่ทำให้คนสามารถปล่อยเสื้อผ้ามือสองรวมทั้ง, รองเท้า, กระเป๋า และสินค้าแฟชั่นอื่นๆ ที่คุณภาพต้องเกิน 80% ขึ้นไป
เพราะบางคนยังมีความกังวลในเรื่องของการซื้อสินค้าต่อจากคนอื่นในเรื่องของความสะอาดและคุณภาพเราก็จะช่วยสกรีนให้ก่อน และเป็นการลดขยะแฟชั่นเพราะของที่เราไม่ใช้แต่คนอื่นได้นำไปใช้ต่อแน่นอน ในส่วนของร้านร้านเราตกแต่งในบรรยากาศที่สวย หรู เพราะโจทย์แรกในการทำร้านคือลูกค้าเข้ามาเดินแล้วจะต้องไม่รู้สึกเขินและมีห้องสำหรับลองชุดไว้รองรับ”
ปัจจุบัน Cycle by SOS อยู่ในระยะเริ่มต้นธุรกิจมีเพียง 1 สาขาที่บนชั้น4 ตึก SOS Flagship store @Siam Square เป็น Pilot เพื่อดูกระแสตอบรับ ขณะเดียวกันเริ่มศึกษาเรื่องพื้นที่และการขยายสาขาต่อไปในอนาคตทั้ง 2 ทางออฟไลน์และออนไลน์ ซึ่งตอนนี้เริ่มขยายจากฝั่งออนไลน์จากเดิมที่มีเพียงเว็บไซต์ไปยังแพลตฟอร์มที่จริงจังมากขึ้นเช่น IG และ shopee
ส่วนพื้นที่ของการขยับขยายออฟไลน์ บริษัทไม่ได้มองว่า Cycle จะต้องไปเติบโตไปกับ SOS เพราะ Cycle มีตลาดของตัวเอง ดังนั้นรูปแบบการขยายในอนาคตจะเป็นโมเดล การสปินออฟ Cycle ออกมามากกว่า เพื่อให้ตรง target โดยกลุ่มลูกค้าหลักของ Cycle ตอนนี้เป็นกลุ่มคนทำงานเป็นหลักรองมาเป็นกลุ่มนักศึกษา
ผู้บริหารกล่าวต่อไปว่า SOS เปิดบริการมาแล้ว 8 ปีมีแบรนด์ในร้านมากหลายร้อยแบรนด์และมีจำนวนสาขาเยอะ ส่วน Cycle เป็นธุรกิจเกิดใหม่ยังมีสัดส่วนที่น้อยมากและเป็นช่วงการวางรากฐานและยังไม่เข้าสู่ช่วงการเติบโต และในช่วงครึ่งปีแรกของ 2566 จะยังเป็นช่วงของการสร้างรากฐานต่อเนื่องจากปีที่แล้ว แต่จากการประเมินคร่าวๆคาดว่าภายในปีนี้จะเติบโตอย่างน้อย 2 เท่าตัว
“เรามองว่าตลาดนี้เป็นตลาดที่ยังไปได้อีกไกล เพราะทุกคนมีของที่ไม่ได้ใช้แล้ว แต่ไม่รู้จะไปปล่อยที่ไหนและคนที่พร้อมจะรับของก็มีเยอะ ตอนนี้ธุรกิจเสื้อผ้าเป็น Fast Fashion คนไม่อยากใส่หลายครั้ง เมื่อนำมาขายต่อก็จะทำให้สินค้าสามารถหมุนเวียนจากมือหนึ่งไปอีกมือหนึ่งได้ในเมืองนอกโมเดลธุรกิจคล้ายกันนี้เติบโตกันค่อนข้างมาก แต่ในเมืองไทยอยู่ในระดับเริ่มต้น ยังไม่ไปถึงก้าวที่ 2 หรือ 3 เลยด้วยซ้ำ และผู้เล่นในตลาดยังมีน้อยมากที่ทำเป็นธุรกิจจริงจัง
ส่วนใหญ่จะปล่อยกันเองผ่านไลฟ์ หรือตลาดนัด ส่วนโมเดลเปิดร้านจริงจังเชื่อว่ามีเราเจ้าเดียวที่กล้าลงทุน เพราะในความเป็นจริงการขายของมือสองอาจจะไม่ได้กำไรเยอะเท่ากับการขายของมือหนึ่งและการลงทุนร้านเป็นต้นทุนที่ค่อนข้างใหญ่และต้องใช้เวลาและกำลังทรัพย์ในการโปรโมทหรือสร้างแคทธิกอรี่นี้ขึ้นมาให้เป็นรูปประธรรม เพราะฉะนั้น Cycle เองจะเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่เข้ามาช่วยทำให้อุตสาหกรรมนี้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น”
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,868 วันที่ 9 - 11 มีนาคม พ.ศ. 2566