“แฟชั่น” ถือเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ที่มีมูลค่ามหาศาล จากคอลเลคชั่นเสื้อผ้าต่างๆ ที่ถูกดีไซน์ออกวางขายและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ขณะเดียวกันก็มี “เสื้อผ้า” ถูกทิ้งจำนวนมาก โดยเฉพาะ “Fast Fashion” โดยในปี 2562 องค์การสหประชาชาติรายงานว่า ระหว่างปี 2543-2557 ปริมาณการผลิตเสื้อผ้าบนโลกเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวเพราะกระแสความนิยมของ Fast Fashion ซึ่งพฤติกรรมนี้ทำให้เสื้อผ้าที่ไม่ใช้งานแล้วถูกทิ้งกลายเป็นขยะในที่สุด และนับว่าเป็นปัญหาใหญ่ต่อสิ่งแวดล้อมโลก
โดย Fast Fashion เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 1.2 พันล้านตันต่อปี กินสัดส่วน 8 - 10 % ของอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลกมากกว่าอุตสาหกรรมการเดินเรือและการบิน นอกจากนี้อุตสาหกรรม Fast Fashion ยังใช้น้ำจำนวนมหาศาลในกระบวนการผลิต และปล่อยน้ำเสียรวมทั้งมลพิษกว่า 20 % ของปริมาณน้ำเสียทั่วโลกอีกด้วย
ขณะที่สหประชาชาติกำหนดกฎบัตรด้านอุตสาหกรรมแฟชั่น (Fashion Industry Charter for Climate Action) ขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาของอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และตั้งเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแฟชั่นให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 หรือ ปี พ.ศ. 2593 ทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแฟชั่นและเสื้อผ้า ลุกขึ้นมาขานรับพร้อมเดินหน้าสร้างความยั่งยืน (Sustainability) จนเกิดเป็นกระแส Eco Fashion หรือ Sustainable Fashion ไปทั่วโลก รวมถึงไทย
ยูนิโคล่เดินหน้าสู่ความยั่งยืน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ฟาสต์ รีเทลลิ่ง” เจ้าของแบรนด์ “ยูนิโคล่” (UNIQLO) รวมถึงแบรนด์อื่นๆอย่าง GU, Theory ฯลฯ แบรนด์แฟชั่นค้าปลีกรายใหญ่ของญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกเรื่องของความยั่งยืนในโลกแฟชั่นเสื้อผ้า โดย “ฟาสต์ รีเทลลิ่ง” เริ่มนำวลี “Unlocking the Power of Clothing” มาใช้เป็นถ้อยแถลงด้านความยั่งยืนของตนและร่วมเกื้อหนุนพัฒนาการที่ยั่งยืนของสังคมผ่านธุรกิจเสื้อผ้า
พร้อมกำหนดหลักการสำคัญเพื่อเป็นแนวทางการทำงานด้านความยั่งยืน ก่อนที่จะลงนามในข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact) ซึ่งเป็นโครงการระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาด้านความยั่งยืนในระดับสากลในเดือนตุลาคม 2561
การตั้งเป้าหมายในการทำงานเพื่อความยั่งยืน เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ แต่เน้นความต่อเนื่อง ก่อนขยายในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นการลดการใช้ถุงพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวให้ได้ 85% ในปี 2563, ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 90% และเพิ่มสัดส่วนการใช้วัสดุรีไซเคิลเป็น 50% ในปี 2573 เป็นต้น
ล่าสุด “โคจิ ยาไน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส บริษัท ฟาสต์ รีเทลลิ่ง จำกัด ได้อัพเดทถึงผลการเดินหน้าการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ผ่านสินค้า “ไลฟ์แวร์” (LifeWear) ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์สังคมและสิ่งแวดล้อมว่า ในปี 2565 บริษัทนำวัสดุรีไซเคิล วัสดุที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำมาใช้เพิ่มขึ้น 5% มีการใช้เส้นใยโพลีเอสเตอร์ที่ได้จากการรีไซเคิลเพิ่มขึ้น 16% ขณะที่เสื้อฟลีซขนนุ่มของยูนิโคล่ ถูกทำขึ้นจากเส้นใยโพลีเอสเตอร์รีไซเคิล 100% เป็นต้น
ห่านคู่ เสื้อผ้าดีต่อโลก
“คุณากร ธนสารสมบัติ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงงานไทยแลนด์นิตติ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่าย “ห่านคู่” (DOUBLE GOOSE) และ สตรีทแบรนด์ DBGS กล่าวถึงมุมมองแฟชั่นยั่งยืน (Sustainable Fashion) ว่า ห่านคู่ เปิดตัวคอลเลคชั่น “มิสฟิต” (MisFit) เสื้อผ้าที่ดีต่อคนดีต่อโลก ซึ่งเป็นหนึ่งในคอลเลคชั่นเสื้อยืดเพื่อความยั่งยืน พร้อมเริ่มสร้างความตระหนักและให้ความรู้ด้านแฟชั่นยั่งยืนต่อกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของห่านคู่
“เป้าหมายของห่านคู่คือการสร้างเสื้อผ้าที่ดีต่อคน ดีต่อโลก ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดขยะลดภาระในการกำจัดวัสดุเหลือใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้า ส่งผลไปยังการเปลี่ยนแปลงที่ดีเข้าสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economic) ในอนาคต”
โดยมิสฟิต มี 2 สไตล์การออกแบบ ได้แก่ 1. Misfit Solid ดีไซน์ที่เกิดจากกระบวนการ Upcycle การแปรรูป ผลิตภัณฑ์เดิมที่มีตำหนิ รวมถึงผลิตภัณฑ์บางส่วนที่ทำจากเศษผ้าชิ้นเล็กๆจากกระบวนการตัดหรือวางแบบ ออกแบบให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ นำไป Recycle ให้ได้ผืนผ้าที่นำมาตัดเย็บใหม่ โดยไม่ผ่าน การฟอกย้อมสีอีก และ 2. Misfit Random (Mosaic) ภายใต้กระบวนการทำงาน Upcycle ด้วยการแปรรูป ชิ้นผ้าที่ผิดพลาดจากกระบวนการย้อม และ ตัดเย็บ นำมาตัดต่อ ทำ patchwork ใหม่เพื่อเป็นการใช้ชิ้นผ้าให้ได้มากที่สุด เกิดเป็นเสื้อตัวใหม่ที่มีลวดลายและสีสันต่างๆที่แบรนด์จะเปลี่ยนเซ็ตสีตามฤดูกาล
คิกออฟเสื้อรีไซเคิล
ขณะที่ “วิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีสกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วอริกซ์ สปอร์ต จำกัด (มหาชน) (WARRIX) บอกว่า ด้วยเป้าหมายสร้างความเติบโตอย่าง unlimited growth หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญคือ เรื่อง SDG คาร์บอนเครดิตผ่านการพัฒนา “เสื้อรีไซเคิล”และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเริ่มเข้าไปศึกษาและสำรวจโรงงานที่ผลิตสินค้าให้กับบริษัท
ซึ่งพบว่าทุกโรงงานมีเศษผ้าที่เหลือจากการผลิตเสื้อและสามารถนำเศษผ้าไปย่อยสลายเพื่อผลิตเป็นเส้นด้ายและนำมาผลิตเสื้อได้กว่า 1.3 ล้านตัว และหากใช้กระบวนการย้อมสีเป็นสีดำโดยไม่ใช่น้ำจะเกิดคาร์บอนเครดิตที่เป็นบวกอีกจำนวนมาก และประหยัดน้ำรวมทั้งไม่เกิดน้ำเสียอีกด้วย
“เสื้อรีไซเคิล ซึ่งเป็นโครงการที่เราตั้งใจนำเศษผ้าที่เหลือจากกระบวนการตัดเย็บและสามารถนำมาผลิตเสื้อได้อีก 1 ล้านตัวมาทำการขายและสร้างความยั่งยืนในเรื่องของการนำของเหลือกลับมาทำเป็นเสื้อ หรือแม้แต่การนำเสื้อเก่ามารีไซเคิลเป็นเสื้อใหม่ ซึ่งเร็วๆนี้เราจะมีโครงการ “ตั้งตู้” รับเสื้อเก่ามาทำเป็นเสื้อใหม่
เช่นยูนิฟอร์มบริษัทเดิม ชุดนักเรียนโรงเรียนเดิม เสื้อฟุตบอลสโมสรเดิม นำกลับมาเป็นเสื้อยูนิฟอร์ม เสื้อฟุตบอลสโมสรใหม่ในปีนี้ และ “วอริกซ์ ” ต้องการมูฟตัวเองไปสู่การเป็น Lifestyle Fashion โดยใช้เส้นใยที่มาจากวัสดุที่เหลือจากการผลิตในโรงงานและการเกษตรในอนาคตด้วย”
การเดินหน้านำธุรกิจสู่ความยั่งยืน แม้จะเป็นจุดเล็กๆ ที่ยังต้องลองผิดลองถูก แต่ถือเป็นความท้าทาย สำหรับโลกยุคใหม่ที่กำลังก้าวเข้าสู่ความยั่งยืน ...