ตลาดร้านอาหารหลังโควิดฟื้นตัวแรง แบรนด์ใหม่-แบรนด์เก่าสปีดชิงส่วนแบ่งการตลาดเข้มข้น บิ๊กเนม CRG เร่งสปีดบาล๊านซ์พอร์ตเปิด 150 สาขาเน้นแบรนด์performanceสูง-เบรกการลงทุนแบรนด์ไม่ทำเงิน คาดใช้เม็ดเงินลงทุนกว่า 1.5 พันล้านบาท ขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบยังพุ่งกระฉูดแบกต้นทุนได้นานสุดไม่เกิน 6 เดือนลุ้นพิจราณาปรับราคาอีกรอบ
นายณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) เปิดเผยว่า ในปี 2022 ที่ผ่านมาเป็นที่มีความคึกคักทั้งฝั่งของผู้บริโภคและผู้ประกอบการที่ปล่อยพลังงานเต็มที่หลังจากเก็บตัวมา 2 ปี รวมทั้ง CRG ผู้เล่นในตลาดร้านอาหารและIndustryอื่นๆ แต่ภาพรวมการฟื้นตัวนับว่า “ยังไม่เต็มที่”
ในส่วนของ CRG เองในปีที่ผ่านมายังครองตำแหน่ง TOP3 ของกลุ่มธุรกิจอาหารไว้ได้ ขณะที่ผลประกอบสามารถทำผลงานค่อนข้างดีมียอดขาย 12,800 ล้านบาทใกล้เคียงกับปี 2019 โดยมีแบรนด์ใหม่เข้ามาเสริมพอร์ต 3 แบรนด์คือ "ชินคันเซ็น ซูชิ" พร้อมกับเร่งขยายสาขาในช่วงครึ่งปีหลังจนมีสาขารวม 44 สาขา และแตกไลน์แบรนด์ใหม่ “นักล่าหมูกระทะ” เพื่อรุกธุรกิจร้านปิ้งย่าง ภายใต้บริษัทร่วมทุนกับ บริษัท เดอะ ฟู้ด ซีเล็คชั่น กรุ๊ป จำกัด ในสัดส่วน 51:49% และแบรนด์แฟรนไชส์ “ราเมน คาเกทสึ อาราชิ” ท็อป 3 ในกลุ่มราเมนเครือข่ายจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตดีและเป็นโอกาสสำคัญของ CRG ด้วย
ส่งผลให้ปัจจุบัน CRG มีแบรนด์ในมือรวมกันกว่า 32 แบรนด์ แบ่งเป็นแบรนด์ของ CRG เอง 16 แบรนด์, แบรนด์ร่วมทุนหรือJV จำนวน 4 แบรนด์และแฟรนไชส์ 12 แบรนด์ ในปีที่ผ่านมามีการเปิดสาขารวมกันมากกว่า 200 สาขาส่งผลให้ปัจจุบันมีสาขารวมทั้งหมด 1,500 สาขาทั้งรูปแบบของQSR, full-service restaurant,Kiosk และ Cloud Kitchen
“ภาพรวมตลาดร้านอาหารปี 2022 มีการเติบโตจากปี 2021 กว่า14% มูลค่ารวม 4.1แสนล้านบาท โดยเซกเมนต์ที่มีมูลค่าและสัดส่วนสูงสุด 3 อันดับแรกคือCafe&Beverage 30,000 ล้านบาท,อาหารญี่ปุ่น 25,000 ล้านบาท,QSR หรือไก่ทอด 25,000 ล้านบาท ส่วนปี 2023 คาดว่าตลาดรวมไม่น่าจะเติบโตมากเท่ากับปี 2021หรือ2022 โดยน่าจะเติบโตแค่3-5% เพราะภาคการท่องเที่ยวยังเติบโตไม่เต็มที่ รวมทั้งเรื่องของเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และสงครามยังคงต้องจับตามองกันต่อ”
อย่างไรก็ตามในปีนี้ CRG จะรุกตลาดร้านอาหารใน 5 กลยุทธิ์หลัก คือ 1 ขยายการเติบโต โดยเฉพาะแบรนด์พระเอกในเครือ เช่น QSR 20 สาขา, having lunch 30 สาขา, ligth food 30 สาขา และDessert & Beverage 70 สาขา รวม 150 สาขาอาทิ ไก่ทอดเบอร์ 1 เคเอฟซี อาริกาโตะ ร้านอานตี้แอนส์ ร้านส้มตำนัว ร้านสลัดแฟคทอรี่ ร้านชินคันเซ็น ซูชิ เป็นต้น
2 หาพาร์เนอร์ทางธุรกิจสร้างการเติบโตใหม่ๆ โดยตั้งเป้า Store sale เติบโต 8-10% ใน 20 แบรนด์ รวม1,500 สาขา โดยมองหาแบรนด์ใหม่เสริมพอร์ตโฟลิโอ1-2แบรนด์ รวมทั้งขยายตลาดใหม่ในประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นตลาดที่มีpotentialสูงทั้ง แง่ประชากรเกือบ 100 ล้านคน มีจำนวนคนรุ่นใหม่เยอะ และมีกำลังซื้อที่ขยายตัว โดยเบื้องต้นมองว่าจะนำแบรนด์อาหารไทยอีสานและอาหารญี่ปุ่นเข้าไปเปิดตลาดในโฮจิมินห์ ผ่าน 3 โมเดลธุรกิจคือ การหาพาร์ทเนอร์ในเวียดนาม,ลงทุนและขยายสาขาเองและแฟรนไชส์ อย่างไรก็ตามตลาดร้านอาหารในเวียดนามนับเป็นสนามที่มีการแข่งขันสูงเช่นกัน
3 ผนึกพันธมิตรเพิ่ม New Brand โดยจะเน้นการหา partner แบรนด์ใหม่ๆที่มีศักยภาพ มีเคมีตรงกันเพื่อขยายธุรกิจไปด้วยกัน ขณะเดียวกันจะขยายสาขากับพาร์ทเดิมทั้ง แบรนด์ชินคันเซ็น ซูชิ, สลัดแฟคทอรี่ และส้มตำนัว ในห้างค้าปลีกของกลุ่มเซ็นทรัล โรบินสัน และStand Alone รวมกัน 25 สาขา
4 เพิ่มประสิทธิผลเพราะการขยายตัวมาพร้อมกับค่าใช้จ่าย ผ่านกลยุทธ์ 3C คือ Cost บริหารจัดการต้นทุน และค่าใช้จ่าย, Capex เน้นการลงทุนให้เกิดประโยชน์สูงสุด และ Cash Flow การบริหารกระแสเงินสด ตลอดจนการลงทุน ให้มีความคล่องตัวมากขึ้น รวมทั้งใช้เทคโนโลยีเช่นการสั่งอาหารผ่านคิวอาร์โค้ด (QR Ordering), การนำหุ่นยนต์มาให้บริการในร้าน, การนำเครื่องมือ
ใช้วิเคราะห์ลูกค้า รวมถึงพัฒนาระบบการเสิร์ฟอาหารผ่านระบบสายพาน
5 สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ตามหลัก C-R-G คือ Care For People ด้านบุคลากร มีการเปิดกว้างรับความหลากหลายของพนักงานเข้าทำงานทั้งด้านเพศ ผู้พิการ เพื่อสร้างความเท่าเทียม การสร้างสมดุลในการทำงาน ,Reduce Greenhouse Gases มุ่งเน้นให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม และGreen Waste & Environment ลดปริมาณขยะอาหารที่เกิดจากการใช้วัตถุดิบในกระบวนการผลิตอาหารให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 1% และในปีที่ผ่านมา การบริจาคอาหารส่วนเกินยังช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ทั้งสิ้น 44,422 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ผู้บริหารกล่าวต่อไปว่า บริษัทยังคงติดตามปัจจัยลบที่อาจเข้ามากระทบธุรกิจไม่ว่าจะเป็นค่าเงินบาทอ่อนค่าที่อาจมีผลกระทบต่อธุรกิจเล็กน้อย เนื่องจากมีการทำคอนแทรคกับซัพพลายเออร์ที่นำเข้าวัตถุดิบหลักเพื่อควบคุมต้นทุนวัตถุดิบ ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีความพยายามตรึงราคาอาหารไว้ให้ได้นานที่สุด แต่หากสถานการณ์ค่าบาทอ่อนและต้นทุนวัตถุดิบสูงลากยาวอาจต้องพิจราณาปรับขึ้นราคาอาหารบางรายการซึ่งมีความเสี่ยงในทุก category
ตอนนี้ยอมรับว่าบริษัทน่าจะแบกรับต้นทุนสินค้าและตรึงราคาอาหารไว้ได้นานที่สุด 3-6 เดือนเท่านั้นและอาจมีการพิจารณาอีกครั้งในช่วงกลางปีถึงไตรมาสที่ 3 เพราะบางคอนแทรคจะหมดสัญญาและวัตถุดิบยังคงปรับตัวขึ้นสูงทั้งวัตถุดิบนำเข้าและวัตถุดิบภายในประเทศ
แต่สถานการณ์ที่เป็นปัจจัยลบที่กระทบมากที่สุดคือแรงงาน พนักงานหลายๆคนกลับบ้านไปทำธุรกิจของตัวเองในช่วงโควิด หรือเรียนรู้ทักษะใหม่ๆจนเกิดอาชีพใหม่ทำให้เกิดภาวะ people shortage ขึ้น
“เป้าหมายปี 2566 เรามองว่าจะเติบโต 20 % หรือรายได้ 15,000 ล้านบาท เปิดสาขาใหม่ 150 สาขาในแบรนด์ที่มี potential สูง มากกว่าครึ่งหรือ 70-80%ของพอร์ต และจำกัดการขยายสาขาของแบรนด์ที่มีpotentialต่ำราวๆ20-30%ของพอร์ตโดยใช้งบลงทุนมากกว่า1,000ล้านบาทไม่รวม M&A และjoint venture อีกราวๆ 450 ล้านบาท รวมกันประมาณ1.5 พันล้านบาท”