นอกจาก “แอมเวย์” ประเทศไทย จะเป็นโมเดลต้นแบบของแอมเวย์ทั่วโลก เพราะเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจขายตรงที่เดินหน้าควบคู่กันไประหว่างนักธุรกิจ (ทีมขาย) และสมาชิก (ผู้ใช้) ตั้งแต่ 10 ปีก่อน จนประสบความสำเร็จสามารถสร้างยอดขายได้กว่า 2 หมื่นล้าน และเป็นเบอร์ 1 ในอุตสาหกรรมด้วยส่วนแบ่งตลาด 1 ใน 3 แล้ว
วันนี้ “แอมเวย์” ยังริเริ่มนำ “เทคโนโลยี” มาใช้เป็นเครื่องมือในการขาย เพื่อสร้าง “โอกาส” ที่มากขึ้น ภายใต้การนำทัพของ “ทศพร นิษฐานนท์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
“ทศพร นิษฐานนท์” ถือเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการจัดวางยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยี เพราะกว่าครึ่งชีวิตการทำงานของเขา เกิดและโตมาในสายเทค นอกจากจะถูกวางตัวให้นั่งเก้าอี้ MD แล้ว ยังมีภารกิจทรานส์ฟอร์มองค์กร นับจากวันเริ่มต้นร่วมงานกับแอมเวย์เมื่อ 3 ปีก่อน
“ทศพร” บอกว่า แอมเวย์เดินหน้ายุทธศาสตร์ 5 ปีในการทรานส์ฟอร์มธุรกิจเริ่มที่การจัดวางยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยี และการสร้าง Health & Wellness Community โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาถือเป็นช่วงการเตรียมพร้อมทรานส์ฟอร์มตัวเองเข้าสู่ยุคดิจิตอล ด้วยการลงทุนและพัฒนาแพลตฟอร์ม ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
เพื่อสร้างเครื่องมือทางการตลาดและการขายใหม่ๆ ให้นักธุรกิจแอมเวย์ในยุคปัจจุบัน เช่น การลงทุนพัฒนา Digital Ecosystem เพื่อการซื้อสินค้าและทำธุรกิจทางออนไลน์ ทั้งเว็ปไซต์ แอปพลิเคชั่น และ LINE ตลอดจนการพัฒนาเครื่องมือใหม่ๆ ที่เข้ากับเทรนด์ปัจจุบัน เช่น Live Streaming ควบคู่ไปกับการจัดกิจกรรมออฟไลน์ ทั้งการจัดอบรม สัมมนา และอีเว้นท์ อย่างต่อเนื่อง
“เมื่อก่อนเราเป็น one to one แต่เมื่อมีเทคโนโลยีเข้ามา สามารถทำเป็น one to many ได้ เมื่อช่วงนี้กลับมาเป็นออฟไลน์ซึ่งเป็นสิ่งที่เราถนัด ก็ผสมผสานกันได้แบบกลมกล่อม ซึ่งพบว่าจากเดิมที่มียอดออนไลน์เข้ามากว่า 20% ปัจจุบันเพิ่มเป็น 53% จากเดิมที่ต้องเขียนใบสมัครผ่านช้อป แต่ตอนนี้มีสมัครออนไลน์ พบว่ามียอดสมัครผ่านออนไลน์ถึง 75% และนักธุรกิจของเราก็ใช้เครื่องมือออนไลน์ในการซื้อ-ขาย ส่งของให้กับสมาชิกได้
แอมเวย์ลงทุนในเรื่องของดิจิตอล ซึ่ง 3-4 ปีที่ผ่านมาใช้งบประมาณราว 1,000 ล้านบาท ถือเป็นการลงทุนฮาร์ดแวร์ เพื่อเตรียมพร้อมและอัพสกิลให้กับนักธุรกิจ และวันนี้เมื่อแอมเวย์ใช้ “Health & Wellness” นำ ถือเป็นช่วงจังหวะที่ดี เพราะเป็นช่วงที่คนใส่ใจเรื่องสุขภาพเช่นกัน การผลักดันให้เซ็กเมนท์สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพก็เติบโตไปด้วย”
“ทศพร” บอกว่า เป้าหมายของแอมเวย์คือ การสร้าง Health & Wellness Community ซึ่งเป็นกลุ่มของผู้รักสุขภาพ ทั้งคอมมูนิตี้ที่แอมเวย์จัดขึ้นสำหรับนักธุรกิจแอมเวย์ และคอมมูนิตี้ที่นักธุรกิจแอมเวย์นำไปประยุกต์สร้างต่อ เกิดเป็น Health & Wellness community ย่อยมากมาย ซึ่งในคอมมูนิตี้เหล่านี้ ก็มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย
เช่น การใช้ AI เข้ามาช่วยจากระยะแรกที่ใช้ตอบรับข้อความผ่านคอล เซ็นเตอร์ ปัจจุบันเริ่มมีการตอบคำถามด้านสุขภาพ การเชิญชวนให้เข้ามาดูสินค้า และอนาคตก็คาดหวังที่จะนำบิ๊กดาต้าเหล่านี้มาทำเป็น CRM สำหรับสมาชิกแบบรายบุคคล เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระให้กับนักธุรกิจด้วย
นอกจากสเต็ปการทรานส์ฟอร์มสู่โลกดิจิตอล และการเดินหน้าสร้าง Health & Wellness community แล้ว วันนี้แอมเวย์ยังขยายฐานนักธุรกิจและสมาชิก ไปยังกลุ่มมิลเลนเนียลและ Gen Z จากปัจจุบันที่มีนักธุรกิจราว 3 แสนคน และสมาชิกอีกกว่า 7.2 แสนคน
“วันนี้มีเจนเนอเรชั่นใหม่เข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งกลุ่มนี้เกิดมาก็อยู่กับเครื่องมือพวกนี้ ก็ยิ่งตอบโจทย์และก็พาคนกลุ่มสูงอายุไปด้วยกัน ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาการเพิ่มพื้นฐานถือเป็นการรองรับทั้งเจนเนอเรชั่นใหม่ ผู้เริ่มทำงาน และผู้สูงอายุได้ทั้งหมด”
“ทศพร” บอกว่า แอมเวย์มีโมเดลที่ดี ไม่เสี่ยง เมื่อสมัครเสร็จ เราดูแลเรื่องจัดส่ง ดูแลช้อป มีรายได้ให้ สต๊อกก็ไม่ต้อง ถือเป็นโมเดลที่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการ ซึ่งการที่ทุกคนมีใจที่จะเดินหน้าเป็นผู้ประกอบการเอง จะทำให้เดินหน้าได้อย่างเต็มที่
“เมื่อก่อนคนทำแอมเวย์คือ อยากมีรายได้ มีบ้าน มีรถ อยากท่องเที่ยว แต่ตอนนี้เรากลับมาดูว่าประเทศไทยเป็นโมเดลต้นแบบของแอมเวย์ทั่วโลกคือการนำ Health and Wellness มานำ ซึ่งดีกว่าใช้ Business นำ ทำให้วันนี้สัดส่วนนักธุรกิจเราเติบโตขึ้นต่อเนื่อง”
ทำให้แอมเวย์เองต้องปรับตัวตามไปด้วย จากเดิมที่ยอดขายผ่านแอมเวย์ ช้อปทั้ง 82 สาขาเป็นหลัก วันนี้เราก็ปรับเปลี่ยนให้ช้อป เป็นมากกว่าขายสินค้าแต่เป็นคอมมูนิตี้สำหรับนักธุรกิจและสมาชิกแอมเวย์ ปรับเพิ่ม Amway Cafe เพื่อให้เป็นแหล่งพบปะรองรับผู้ที่มาทำกิจกรรม มาเรียนรู้ มาแลกเปลี่ยนกัน
นอกจากการปรับโมเดลและแนวคิดในการทำธุรกิจแล้ว แอมเวย์ยังปรับแผนการนำเสนอผลิตภัณฑ์ จาก Categorized Solution เป็น Superior Solution เพื่อตอบโจทย์ตามความต้องการเฉพาะของผู้บริโภค รวมทั้งสร้างโซลูชันให้กับกลุ่มกลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น อาหารและเครื่องดื่มจากพืชพร้อมทาน , กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปากและฟัน จากปัจจุบันที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในกลุ่มผลิตภัณฑ์ควบคุมน้ำหนัก เป็นต้น โดยในปีนี้แอมเวย์มีแผนเปิดตัวสินค้าใหม่อีก 15 รายการ จากวันนี้ที่มีสินค้ากว่า 250 รายการ ครอบคลุมทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์และกลุ่มผู้บริโภค
ขณะที่ภาพรวมของธุรกิจแอมเวย์ในปีนี้ “ทศพร” บอกว่า จะมีรายได้ทรงตัวใกล้เคียงกับปีก่อน ซึ่งมีรายได้รวม 18,750 ล้านบาท จากที่เคยมีรายได้สูงสุดแตะ 2 หมื่นล้านในปี 2563 แต่ในปีหน้าเชื่อว่าแอมเวย์ จะพลิกฟื้นกลับมาเติบโตอย่างแน่นอน โดยตั้งเป้าหมายที่จะเติบโตเป็นตัวเลข 1 หลัก
หลังจากที่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาถือเป็นการจัดวางระบบหลังบ้าน หรือฮาร์ดแวร์ แต่นับจากนี้จะเป็นการเพิ่มสปีดหรือซอฟ์ทแวร์ ที่พร้อมจะเดินหน้ารุกได้เต็มที่ ด้วยเป้าหมายคือ การมียอดขาย 3 หมื่นล้านภายในปี 2572 ตามวิสัยทัศน์สู่ความสำเร็จ 70 ปี แอมเวย์โลก (A70) นั่นเอง
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,910 วันที่ 3 - 5 สิงหาคม พ.ศ. 2566