ปักธง “ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ” แม็กเน็ตดึงทุนต่างชาติเข้าไทย

28 ส.ค. 2566 | 11:03 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ส.ค. 2566 | 11:07 น.

เจาะ3 เทรนด์สุขภาพแห่งอนาคต สังคมสูงวัย – สุขภาพจิต – โรคอุบัติใหม่ คาดเป็นแรงหนุนเกิดนวัตกรรมและธุรกิจใหม่พร้อมดึงนักลงทุนด้านสุขภาพไทยและต่างประเทศเข้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะธุรกิจศูนย์ดูแลผู้สูงอายุมูลค่าจ่อขยายตัวแตะ 1.92 หมื่นล้านบาท

“เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ” มองไทยเตรียมรับมือความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิต จากเทรนด์การแพทย์และการดูแลสุขภาพ "สังคมสูงวัย-สุขภาพจิต-โรคอุบัติใหม่" เป็นแรงขับให้เกิดนวัตกรรมและธุรกิจใหม่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเติบโตสดใส แนะนวัตกรและนักลงทุนปรับตัวตามให้ทัน

“ธุรกิจศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ” แม็กเน็ตดึงทุนต่างชาติเข้าไทย
ดร.ชัยธร ลิมาภรณ์วณิชย์ ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์นวัตกรรม และสถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม (IFI) ภายใต้สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดเผยว่า สำหรับประเทศไทย ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิต จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตคนไทยมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี แต่การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตยังไม่ครอบคลุม เพราะฉะนั้นต้องสนับสนุนให้มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยยกระดับสุขภาวะของคนไทย

ซึ่งปัจจุบันก็มีสตาร์ทอัพไทยจำนวนมากที่มีบริการนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ทางด้านสุขภาพจิตหลากหลายรูปแบบ เช่น การทำแอปพลิเคชันที่นำเสนอกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพจิตรูปแบบต่าง ๆ และแชทบอทที่ช่วยเก็บข้อมูลไปวิเคราะห์ความเสี่ยงอาการซึมเศร้า เป็นต้น

“ธุรกิจศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ” แม็กเน็ตดึงทุนต่างชาติเข้าไทย

นอกจากนี้ ประเทศไทยต้องเตรียมรับมือกับการอุบัติของโรคใหม่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลายประการ เช่น การเพิ่มขึ้นของประชากรที่สวนทางกับทรัพยากรทางธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพที่ลดลง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัจจัยเหล่านี้สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแพร่ระบาดของเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัสต่างๆ และมีโอกาสที่ทำให้เกิดโรคอุบัติใหม่ และอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านสุขภาพ สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้น การพัฒนาประเทศต้องคำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้ไปพร้อมๆ กัน

 

ด้าน นพ.ฆนัท ครุธกูล นายกสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ กล่าวว่า งานวิจัยพบว่าทั่วโลกจะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 21.5 % ของประชากรทั้งหมด หรือกว่า 2,092 ล้านคน ในปี 2593 โดยประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 28% ของประชากรทั้งหมด) ในปี 2576 และพบว่าผู้สูงอายุจำนวนมากมีกำลังทรัพย์ในการใช้จ่าย โดยมีธุรกิจที่เติบโตได้ดีในสังคมผู้สูงอายุ ได้แก่ ธุรกิจบริการสุขภาพ ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ ธุรกิจเกี่ยวกับความงาม และธุรกิจนำเที่ยวผู้สูงวัย

โดยเฉพาะธุรกิจสถานประกอบการดูแลผู้สูงอายุ จากข้อมูลศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics พบว่า ธุรกิจศูนย์ดูแลผู้สูงอายุจะได้รับแรงหนุนจากโครงสร้างประชากรในปัจจุบันที่มีอัตราการมีลูกน้อยลงและลดการพึ่งพิงครอบครัว ทำให้มูลค่าของธุรกิจศูนย์ดูแลผู้สูงอายุขยายตัวแตะ 1.92 หมื่นล้านบาทในปี 2576

ตลาดสินค้าและบริการสำหรับผู้สูงอายุมีแนวโน้มเติบโต แต่ก็ยังไม่พอและไม่ทันกับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นมาก อายุยืนยาวขึ้น และอัตราการเสียชีวิตช้าลง ดังนั้น ตลาดต้องปรับตัวโตให้ทัน โดยกลุ่มธุรกิจเฮลธ์เทคสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องทั้งรูปแบบ B2B เช่น ระบบจัดการข้อมูลผู้ป่วย จัดสรรบุคลากรและยา ระบบปรึกษาแพทย์ทางไกล แพลตฟอร์มเชื่อมโยงบริการสุขภาพครบวงจร การใช้ AI วิเคราะห์โรคเบื้องต้น และรูปแบบ B2C เช่น แอปพลิเคชันข้อมูลสุขภาพ ออกกำลังกายออนไลน์ Virtual class  บริการสุขภาพที่บ้าน ดูแลผู้ป่วย ผู้สูงอายุที่บ้าน อุปกรณ์การแพทย์ที่บ้าน

“ธุรกิจศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ” แม็กเน็ตดึงทุนต่างชาติเข้าไทย นายเกอร์นอท ริงลิ่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย เปิดเผยว่า จากการเติบโตของธุรกิจการแพทย์ และการลงทุนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเพื่อการดูแลรักษาสุขภาพอย่างต่อเนื่อง เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ  พร้อมที่จะสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจด้วยการจัดงานเมดิคอล แฟร์ ไทยแลนด์ 2023 สนับสนุนประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางการแพทย์นานาชาติ (Medical Hub) โดยงาน เมดิคอลแฟร์ ไทยแลนด์ เป็นมหกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ภายในงานมีผู้แสดงสินค้ากว่า 800 รายจากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก มาร่วมนำเสนอผลงานนวัตกรรมด้านการแพทย์และการดูแลสุขภาพที่ครอบคลุมทุกด้าน เช่น นวัตกรรมด้านเครื่องมือวินิจฉัย ระบบกำจัดเชื้อ อุปกรณ์ฟื้นฟูสมรรถภาพ เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ทางการแพทย์ ฯลฯ ที่พร้อมจะขยายธุรกิจและความร่วมมือทางการแพทย์ในตลาดอาเซียน ซึ่งงานเมดิคอลแฟร์ ไทยแลนด์ ได้จัดขึ้นครั้งล่าสุดเมื่อปี 2019 และการกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ในครั้งนี้หลังจากเว้นระยะไป 4 ปี ในพื้นที่การจัดงานที่ใหญ่ขึ้น จะมาสร้างความคึกคักในวงการธุรกิจอุตสาหกรรมการแพทย์อย่างแน่นอน โดยผู้จัดแสดงสินค้าภายในงานได้จองพื้นที่ต่างๆ เต็มหมดแล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

 

"มหกรรมเมดิคอล แฟร์ ไทยแลนด์ ถือเป็นแพลตฟอร์มสำคัญสำหรับการเติบโตของธุรกิจ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของผู้จัดจำหน่าย ผู้ผลิต และผู้แทนจากแบรนด์ต่างๆ เสริมความแข็งแกร่งให้กับแวดวงอุตสาหกรรมการแพทย์และการดูแลสุขภาพ ในจุดยุทธศาสตร์ของอาเซียน ซึ่งภายในงานเมดิคอลแฟร์ ไทยแลนด์ประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลัก คือ 1) สตาร์ทอัพพาร์ค เพื่อสร้างความร่วมมือและต่อยอดทางธุรกิจ ผลักดันสตาร์ทอัพให้เติบโตควบคู่กับสุขภาพของประชาชน 2) พาวิลเลี่ยนดูแลสุขภาพชุมชน ที่มุ่งเน้นนวัตกรรมและโซลูชั่นที่เกี่ยวข้องเทรนด์สุขภาพในอนาคต ทั้งระบบอัฉริยะและเครื่องมือในดูแลรักษาโรค เวชศาสตร์ผู้สูงวัย การฟื้นฟูสมรรถภาพ ฯลฯ และ 3) พาวิลเลี่ยนอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ ไฮไลท์พิเศษที่เปิดตัวในประเทศไทยเป็นครั้งแรกในปีนี้ นำเสนอนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับด้านวัสดุ ผลิตภัณฑ์ แพคเกจจิ้ง และบริการขั้นสูง จนถึงไมโครโปรเซสเซอร์และนาโนเทคโนโลยี ซึ่งการเติบโตของวงการการเฮลธ์เทคนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมการลงทุน และเศรษฐกิจในระดับมหภาค"