เปิดพันธกิจ ‘จักรพล’ ปั้น ‘ซีคอนสแควร์-ซีคอน บางแค’ สู่ Dream Destinations

03 มี.ค. 2567 | 07:09 น.
อัปเดตล่าสุด :03 มี.ค. 2567 | 07:29 น.

จาก “นันยาง” สู่ “ซีคอนสแควร์” ความท้าทายใหม่ “จักรพล จันทวิมล” กับพันธกิจพลิกโฉม “ซีคอนสแควร์-ซีคอน บางแค” เป็น Dream Destinations ท่ามกลางสมรภูมิค้าปลีกที่ดุเดือด เผ็ดร้อน

KEY

POINTS

  • จักรพล จันทวิมล นำทัพปรับโฉม ‘ซีคอนสแควร์-ซีคอน บางแค’
  • ทุ่มงบปรับโซนใหม่กว่า 1,000 ล้านบาท ตั้งเป้าเป็น Dream Destinations
  • ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ หมดสัญญาโรบินสัน เตรียมรีโนเวทพื้นที่กว่า 4 หมื่นตารางเมตร

“ผมร่วมเดินทางบนเส้นทางของสินค้าที่มีอายุกว่า 71 ปี นั่นคือ “นันยาง” สู่การรับไม้ต่อเข้าบริหาร “ศูนย์การรค้าซีคอนสแควร์” ซึ่งแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงจากสินค้าสู่บริการ จากสิ่งที่ต้องเดินไปหาผู้บริโภค สู่สิ่งที่ผู้บริโภคต้องมาหา สร้างความท้าทายในหลายมิติ” คำกล่าวแรกที่ ดร.จักรพล จันทวิมล ผู้อำนวยการสำนักการตลาด บริษัท ซีคอน ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ”

 “จักรพล” ย้อนความให้ฟังว่า บทบาทการบริหารเริ่มต้นจากบริษัท นันยาง มาร์เก็ตติ้ง ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ มาตั้งแต่ปี 2553 มีผลงานที่ประสบความสำเร็จมากมาย จนวันนี้ที่ก้าวมาสู่อีกบทบาทใหม่ คือการร่วมบริหารศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ นับตั้งแต่ปี 2563 โดยทำควบคู่กับนันยางจนถึงปัจจุบัน

 หากพูดถึง “ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์” ซึ่งดำเนินการมาร่วม 30 ปี เป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ พื้นที่ 87 ไร่ เป็นการลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท มีพื้นที่ใช้สอยภายในห้างกว่า 5 แสนตร.ม. มีร้านค้ากว่า 500 ร้าน มีลูกค้ามาใช้บริการกว่า 30 ล้านคนต่อปี และมีบันไดเลื่อนเปิดให้ดำเนินการ 100 ตัว

เปิดพันธกิจ ‘จักรพล’ ปั้น ‘ซีคอนสแควร์-ซีคอน บางแค’ สู่ Dream Destinations

 ส่วนซีคอน บางแค ซึ่งเป็นศูนย์การค้าย่านฝั่งธน ที่กลุ่มเข้าไปซื้อกิจการและนำมาพัฒนาต่อจนถึงปัจจุบันเป็นเวลารวม 11 ปี มีพื้นที่ราว 3 แสนตร.ม. มีร้านค้ากว่า 250 ร้าน มีพื้นที่จอดรถ 4,000 คัน มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการราว 20 ล้านคนต่อปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : "จั๊ก - จักรพล" นำทัพ ปั้น "ซีคอนสแควร์" โฉมใหม่ https://www.thansettakij.com/business/marketing/589317

 “หากย้อนไป 30 ปีก่อน ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ เป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ในช่วงเวลาดังกล่าว ติดอันดับหนึ่งในห้างของอาเซียน ย่านบางนา-ศรีนครินทร์ เป็นชานเมืองแบบพรีเมียม ผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง ที่ถือเป็นทำเลทองที่ดึงดูดเพลย์เยอร์หลายรายทำให้การแข่งขันสูง ขณะที่ซีคอน บางแค ดำเนินธุรกิจมา 11 ปี เป็นพื้นที่ที่คนอาศัยค่อนข้างเยอะ แข่งขันไม่สูง แต่เป็นพื้นที่ที่ทราฟฟิกเยอะ ทั้ง 2 พื้นที่มีแตกต่างกันในเรื่องการแข่งขัน และพฤติกรรมผู้บริโภคถือเป็นความท้าทายในการวางยุทธศาสตร์ใหม่”

เปิดพันธกิจ ‘จักรพล’ ปั้น ‘ซีคอนสแควร์-ซีคอน บางแค’ สู่ Dream Destinations

 “จักรพล” บอกว่า แนวคิดสำคัญของการบริหาร ศูนย์การค้าทั้งซีคอนสแควร์-ซีคอนบางแค เริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนใหม่ภายใน และการสร้างสิ่งใหม่ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ที่นี่เป็น Dream Destinations โดยเริ่มต้นด้วยการรีโนเวทหลายโซนใหม่ด้วยงบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท เช่น ฟู้ดคอร์ท โยโย่แลนด์ การบริหารจัดการกิจกรรมภายในศูนย์ (อีเว้นต์) ที่มีการเปลี่ยนแปลงทุก 2 สัปดาห์ เพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้าเข้ามาในพื้นที่ พร้อมปรับให้เข้ากับยุคสมัย ทั้งผสานแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาองค์กรที่ยั่งยืนตามหลัก ESG (Environment, Social, และ Governance) โดยในปี 2567 จะได้เห็นโซนใหม่นำร่องที่ ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ คือ

เปิดพันธกิจ ‘จักรพล’ ปั้น ‘ซีคอนสแควร์-ซีคอน บางแค’ สู่ Dream Destinations

โซน Munx2 พื้นที่นี้เป็นการปรับปรุงชั้น 1-3 ของฟากหนึ่งในห้างให้เต็มไปด้วยร้านค้าและแบรนด์ที่เกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์ ภายใต้แนวคิดการดึงคนทำงานด้านความคิดสร้างสรรค์มาจัดกิจกรรมในห้างเพื่อดึงดูดกลุ่มคนที่มีความเป็น Creative Community รวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น มีจัดกิจกรรมต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นนิทรรศการ It’s so bright and confusing. ของ TangBadVoice หรือ ตั้ง-ตะวันวาด วนวิทย์ นิทรรศการ Gunja appetite โดย TCDC COMMONS กิจกรรมรวมพลศิลปิน NFT ที่ The Moon Crypto & NFT Cafe, เป็นต้น

“ธีมของ “MUNx2” จับบิ๊ก 2 เทรนด์ คือ คาเฟ่ และ อาร์ต แจ้งเกิด! อาร์ตเป็นพื้นที่ไม่ได้สร้างรายได้ เป็นต้นทุนด้วยซ้ำ แต่เป็นการสร้างคอนเซปต์ นำไปสู่แบรนดิ้ง ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ ที่จะมีความเป็นพรีเมียมมากขึ้นตามเป้าหมายศูนย์กลางงานอาร์ต เป็นการคืนสู่สังคมส่วนหนึ่งแบบ WIN WIN ซึ่งเวลานี้เราจะเห็นได้ว่า คนรุ่นใหม่สนใจงานอาร์ตมากขึ้น”

อีกโซนคือ สเปซ รูฟท็อป บนพื้นที่กว่า 5 หมื่นตร.ม. ซึ่งนำมาทำโซลาร์เซลล์ 3 หมื่นตร.ม. สะท้อนภาพชัดเจนจากนโยบายการใช้พลังงานสะอาด มีการติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา หรือ “โซลาร์รูฟท็อป” ซึ่งโซลาร์เซลล์ ของซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ ผลิตไฟฟ้าได้ 5 เมกะวัตต์ ทำให้บริษัทสามารถประหยัดค่าไฟได้ 15% ต่อปี ราว 30 ล้านบาทต่อปี

“นอกจากโซนใหม่ดังกล่าว ในปีนี้บริษัทมีแผนที่จะรีโนเวทพื้นที่ของห้างโรบินสัน ซึ่งจะหมดสัญญาในปีนี้ (ระยะเวลาสัญญา 30 ปี) ให้กลายเป็นโซนใหม่ พร้อมแม็กเน็ตใหม่บนพื้นที่กว่า 4 หมื่นตร.ม. รวมทั้งการปรับภาพลักษณ์ของซีคอนสแควร์ใหม่ ให้เป็นศูนย์การค้าที่ทันสมัย มีสิ่งอำนวยความสะดวก รองรับทุกกลุ่มลูกค้า โดยเฉพาะการเดินทาง ซึ่งปัจจุบันมีสถานีรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ที่ให้บริการผ่านหน้าศูนย์ โดยในปีนี้มีแผนการสร้างสกายวอล์คเชื่อมตรงมายังศูนย์การค้า เช่นเดียวกับซีคอน บางแค ที่อยู่ติดกับสถานีรถไฟฟ้า สายสีน้ำเงิน ทำให้การเดินทางเข้ามาใช้บริการสะดวกมากขึ้น”

“จักรพล” บอกว่า แผนยุทธศาสตร์ใหม่นี้ การบริหารของกลุ่มซีคอน ยังสร้างวัฒนธรรมเปิดกว้าง ให้คุณค่ากับมุมมองที่หลากหลาย มุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาคน ด้วยการสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้มีแนวคิด สร้างโอกาสใหม่ ผ่านไฮไลท์สำคัญของบริษัทที่จัดประจำทุกปีคือ “SED Talk” คล้ายการจัด TED Talks โดยเป็นกิจกรรมเปิดกว้างให้พนักงานทุกคนได้มีส่วนร่วม โดยต้องสมัครและผ่านการคัดเลือก มาพูดถึงเทคนิคการพัฒนางานและชีวิต เรียกได้ว่าสร้างกระแสความตื่นตัวในหลายเรื่อง โดยเฉพาะพลังแห่งการสร้างสรรค์และพัฒนาที่ไม่สิ้นสุด

“เรามุ่งให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทีมงาน และพนักงานทุกคน โดยมุ่งร่วมพัฒนาบุคลากรขององค์กร ใน 4 ด้านสำคัญได้แก่ Growth mindset, Charisma, Proactive, Closing the gap เพื่อเปิดโอกาสให้พนักงานรุ่นใหม่เข้ามาร่วมขับเคลื่อนองค์กรและยังสานต่อความคิดของพนักงานเดิมให้พัฒนาอย่างก้าวกระโดดอย่างในปัจจุบันมีพนักงานที่มีอายุมากกว่า 30 ปีในสัดส่วน 80% จากเดิมที่มีสัดส่วน 60%”

ทั้งหมดนี้สะท้อนถึงการเติบโตของรีเทลทั้ง 2 แห่ง ที่ต่างเป็นหมุดหมายสำคัญของทั้งย่านศรีนครินทร์ และบางแค เพื่อวางเป้าหมายสู่การเป็นแหล่งช้อปปิ้งของคนในพื้นที่หรือ “Dream Destinations” ในอนาคต

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,971 วันที่ 3 - 6 มีนาคม พ.ศ. 2567